ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมา

กว่าจะเป็น "สภาวิชาชีพบัญชี"

     จากจุดเริ่มต้นเมื่อปีพุทธศักราช 2491 ที่กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพทางการบัญชีเพียงกลุ่มเล็กๆ ได้รวมตัวกันก่อตั้งเป็นสมาคม โดยมีเจตนารมย์แน่วแน่ในการสร้างความเป็นปึกแผ่น และพัฒนาวิชาชีพบัญชีของประเทศ ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ เส้นทางอันยาวนานกว่ากึ่งศตวรรษ ในการดำเนินการผลักดันให้วิชาชีพบัญชีเป็นที่ยอมรับของภาครัฐนั้นมีอุปสรรคนานัปการ แต่อดีตนายกสมาคม คณะกรรมการสมาคมทุกสมัย และผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีทั้งมวล ก็ไม่เคยละความพยายาม ในอันที่จะยกฐานะองค์กรทางวิชาชีพบัญชี ให้เป็นองค์กรอิสระที่สามารถกำกับดูแลตนเอง (Self Regulated Organization) เช่น สถาบันวิชาชีพบัญชีในต่างประเทศ หากย้อนกลับในปี พ.ศ. 2480 หลวงดำริอิศรานุวรรต ได้ริเริ่มร่างกฏหมาย ในอันที่จะทำให้วิชาชีพบัญชีได้รับการรับรองเรียกว่า สภาวิชาชีพบัญชีเพื่อเป็นหลักประกันว่า อาชีพการบัญชีได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาล และเป็นเครื่องจูงใจให้มีผู้สนใจศึกษาวิชาการบัญชีมากขึ้น จึงเสนอร่างดังกล่าวต่อรัฐบาล แต่หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้ส่งเรื่องให้ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี (พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธุ์) ซึ่งพิจารณาแล้ว เห็นด้วยในหลักการที่จะส่งเสริมกิจการบัญชี แต่เนื่องจากเห็นว่าในขณะนั้น ยังไม่มีผู้รู้การบัญชีมากพอจะตั้งเป็นสภา จึงน่าจะเริ่มด้วยให้การศึกษาทางบัญชีแก่คนไทยให้มาก่อน

     นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเห็นชอบด้วยกับความเห็นของที่ปรึกษาฯ หลวงดำริอิศรานุวรรตจึงได้ขอถอนร่าง พ.ร.บ. สภาการบัญชี และเสนอให้รัฐบาลรับจัดการศึกษาในทางการบัญชีขึ้นให้ทันต้นปี พ.ศ. 2481 คณะรัฐมนตรีได้ประชุมเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2480 มีมติรับหลักการและได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาโดยมีพระยาไชยยศสมบัติ (เสริม กฤษณามระ) เป็นประธานกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการนี้ ได้มีมติให้เปิดการศึกษาวิชาการบัญชี ในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปีการศึกษา พ.ศ. 2481 เป็นต้นไป

     ต่อมาในปี พ.ศ.2496 พระยาไชยยศสมบัติได้ปรารภแก่หัวหน้ากอง หุ้นส่วนบริษัท (นายนาม พูนวัตถุ) ว่า บัดนี้ได้มีผู้สำเร็จวิชาการบัญชี จากมหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ เป็นจำนวนมากแล้ว สมควรจะต้องมีกฎหมายควบคุม และส่งเสริมนักบัญชีและผู้สอบบัญชี และกำหนดคุณวุฒิ รวมทั้งคุณสมบัติของบุคคลดังกล่าวด้วย หลังจากที่หัวหน้ากองหุ้นส่วนบริษัทได้เรียนหารือกับพระยาไชยยศสมบัติ 2-3 ครั้งแล้ว หัวหน้ากองหุ้นส่วนบริษัทจึงได้ร่าง พระราชบัญญัตินักบัญชี พ.ศ. …….โดยมีบทบัญญัติเกี่ยวกับจัดตั้งสภาการบัญชีขึ้น เพื่อทำหน้าที่ควบคุมและส่งเสริมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีทำนองเดียวกับเนติบัณฑิตยสภาและแพทยสภา

     ตามร่างพระราชบัญญัตินักบัญชี พ.ศ. ….. ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งสภาการบัญชีขึ้นมีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) ให้คำปรึกษาและให้ความเห็นแก่รัฐบาลในเรื่องนโยบายการศึกษา หลักสูตร แบบเรียน การอบรม การสอบไล่ และอื่นๆ ที่เกี่ยวกับวิชาการบัญชีและการตรวจสอบบัญชี
(2) ให้การศึกษาอบรม กำหนดหลักสูตรและวิธีการสอบไล่ หรือคัดเลือก นักบัญชีเป็นผู้สอบบัญชี
(3) ควบคุมและสอดส่องจรรยามรรยาทและวินัยของนักบัญชี ตลอดจนพิจารณาลงโทษนักบัญชีผู้ประพฤติผิดมารยาท
(4) พิจารณาคำร้องทุกข์ที่เกี่ยวกับนักบัญชี
(5) ส่งเสริมนักบัญชีในทางความรู้ ความประพฤติและความสามัคคี
(6) รักษาผลประโยชน์ และส่งเสริมฐานะของนักบัญชี
(7) กำหนดวินัยและจรรยามารยาทให้นักบัญชีปฏิบัติ

     เมื่อคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับหลักการแห่งพระราชบัญญัตินักบัญชี พ.ศ. ....... เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2502 แล้ว ก็ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แต่โดยที่ในระยะเวลานั้น คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังพิจารณาร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. ….. กฤษฏีกาจึงมีความเห็นว่า
(1) น่าจะให้มีการควบคุมวิชาชีพผู้สอบบัญชีในรูปของคณะกรรมการมากกว่าในรูปของสภาการบัญชีเพื่อให้เหมือนกับร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรมและร่างพระราชบัญญัติทนายความ (พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2508 ซึ่งยกเลิกไปแล้ว) ซึ่งถือว่ามีโครงร่างและเจตนารมณ์เป็นอย่างเดียวกัน
(2) การตั้งคณะกรรมการสภาการบัญชี โดยวิธีเลือกตั้งนั้นอาจไม่สมควร ควรใช้วิธีแต่งตั้ง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ จะเหมาะสมกว่า และในระยะเริ่มแรกควรจะให้รัฐบาลเป็นผู้ควบคุมก่อน

     ร่างพระราชบัญญัตินักบัญชี พ.ศ. ….. จากการดำริของพระยาไชยยศสมบัติ ได้มีการแก้ไขปรับปรุงหลายครั้ง และได้แก้ไขชื่อพระราชบัญญัติในครั้งสุดท้ายเป็น พระราชบัญญัติผู้สอบบัญชี พ.ศ. 2505ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2505 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 22 ตุลาคม 2547 พระราชบัญญัติผู้สอบบัญชี พ.ศ. 2505 ยังคงไว้ซึ่งสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นักบัญชี พ.ศ. .. อยู่เป็นส่วนใหญ่ มีส่วนที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญ ดังนี้
(1) เปลี่ยนสภาการบัญชี จากสถาบันอิสระซึ่งเป็นนิติบุคคลให้เป็นส่วนราชการในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ โดยใช้ชื่อว่า “คณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสอบบัญชี เรียกย่อว่า ก.บช. เพื่อให้ทางราชการสามารถควบคุมการสอบบัญชีให้ได้ผลอย่างเต็มที่
(2) เปลี่ยนชื่อคณะกรรมการ ผู้ทำหน้าที่ควบคุม ผู้สอบบัญชี จากคณะกรรมการสภาการบัญชี เป็นคณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสอบบัญชี เพื่อให้เหมาะสมกับฐานะของคณะกรรมการที่เป็นหน่วยงานของทางราชการ
(3) เปลี่ยนการเลือกตั้งคณะกรรมการ ผู้ทำหน้าที่ควบคุมผู้สอบบัญชี จากแนวความคิดเดิมที่ให้ผู้สอบบัญชีด้วยกันเป็นผู้เลือกตั้ง เป็นการแต่งตั้งจากข้าราชการผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการบัญชีและการสอบบัญชี

     โดยกำหนดให้มีกรรมการโดยตำแหน่งหน้าที่ในราชการ 7 คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมทะเบียนการค้า อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมสรรพากร ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการอื่น ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แต่งตั้งอีก 8 คน ในจำนวนนี้ต้องแต่งตั้งจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาตไม่น้อยกว่า 4 คน ต่อมาในช่วงที่ศาสตราจารย์ ธวัช ภูษิตโภยไคย เป็นนายกสมาคมเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2537 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายอุทัย พิมพ์ใจชน) ได้แต่งตั้งกรรมการชุดหนึ่ง จำนวน 9 คน เพื่อศึกษาและดำเนินการจัดตั้งสภานักบัญชีโดยมีนายประเทือง ศรีรอดบาง รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะกรรมการ และนายจำรัส ปิงคลาศัย เป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ คณะกรรมการดังกล่าวได้ร่างพระราชบัญญัติสภานักบัญชี พ.ศ. ….. แล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม 2537 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายเฉลิมพล สนิทวงศ์ชัย) จึงได้มีหนังสือเชิญผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อธิบดีกรมสรรพากร เลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. และกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้เป็นกรรมการพิจารณากลั่นกรองร่าง พ.ร.บ. สภานักบัญชี พ.ศ. . ร่วมกับคณะกรรมการชุดเดิมเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะนำเสนอ รัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ในที่สุดคณะรัฐมนตรีชุดที่นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ วันที่ 6 กันยายน 2537 เห็นชอบด้วยกับร่าง พ.ร.บ.สภานักบัญชี พ.ศ. .. และมีมติให้จัดส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาต่อไป แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ทำให้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ตกไป

     กระทรวงพาณิชย์ได้ล้มเลิกโครงการจัดตั้งสภานักบัญชี และเปลี่ยนแปลงร่าง พ.ร.บ. สภานักบัญชี พ.ศ. ….. เป็นร่าง พ.ร.บ. วิชาชีพบัญชี พ.ศ. . ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2542 ได้ลงมติรับหลักการ และให้จัดส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาตรวจแก้ไขต่อไป แต่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ยังไม่ผ่านกระบวนการ เพื่อออกเป็นกฎหมายได้ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2547 ศาสตราจารย์เกษรี ณรงค์เดช ได้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมในขณะนั้น ได้นำคณะกรรมการสมาคมนักบัญชี และผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย เข้าพบหารือกับประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอแก้ไขและปรับปรุง ในหลักการและเหตุผลเกี่ยวกับการกำกับดูแล สภาวิชาชีพบัญชี โดยขอเพิ่มให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมด้วย ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี จากกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่อง ในการช่วยนำเสนอร่างหลักการและเหตุผล ของพระราชบัญญัติฉบับใหม่ เข้าสู่กระบวนการพิจารณาออกเป็นกฎหมาย ซึ่งกว่าร่างพระราชบัญญัติ จะผ่านการพิจารณาแต่ละขั้นตอนนั้น มีปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่การชี้แจงและอธิบายทำความเข้าใจ เรื่องที่เกี่ยวกับการบัญชี ให้กรรมการที่มิใช่นักบัญชีเข้าใจได้ แต่ที่สุดแล้ว วันแห่งความสำเร็จและภาคภูมิใจของวิชาชีพบัญชีก็มาถึง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชองค์การ โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศตราพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชีพ.ศ. 2547 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ 2547 เป็นต้นมา

     นับเป็นการเกิด “สภาวิชาชีพบัญชีสถาบันวิชาชีพทางการบัญชี เช่นเดียวกับสมาคมนักบัญชี และผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย ตามเจตนารมย์ของนายกสมาคมนักบัญชี และผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทยทุกท่าน ที่จะสถาปนาสมาคมเป็นสภาวิชาชีพบัญชี เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี และเพื่อยังประโยชน์แก่วิชาชีพบัญชี และนักบัญชีทุกคน ดังนั้นในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2548 จึงได้จัดให้มีการประชุมใหญ ่วิสามัญสมาชิกสมาคมนักบัญชี และผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทยขึ้น เพื่อขอประชามติจากสมาชิกสมาคม นับเป็นเหตุการณ์ที่น่าประทับใจ อันแสดงพลังของนักบัญชีทั้งมวล เมื่อสมาชิกสมาคมนักบัญชี และผู้สอบบัญชีรับอนุญาตฯในวันนั้น ได้ลงมติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ ให้เลิกสมาคมนักบัญชี และผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย และให้โอนสินทรัพย์สุทธิและกิจการทั้งหมดของสมาคมนักบัญชีเป็นของสภาวิชาชีพบัญชี

     และในวันที่ 3 เมษายน 2548 สภาวิชาชีพบัญชีได้จัดประชุมใหญ่สามัญเป็นครั้งแรก โดยมีวาระสำคัญเป็นการเลือกตั้งนายกสภาวิชาชีพบัญชี ตามข้อบังคับของสภาวิชาชีพบัญชีครั้งแรก มีศาสตราจารย์วิโรจน์ เลาหะพันธุ์ ประธานคณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้ง เป็นประธานในที่ประชุม ซึ่งได้ลงมติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ ให้ศาสตราจารย์เกษรี ณรงค์เดช เป็นนายกสภาวิชาชีพบัญชีคนแรก

โพสต์เมื่อ :
3 ต.ค. 2560 14:42:44
 126449
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์