รายได้ : การรับรู้รายได้และค่านายหน้า

รายได้ : การรับรู้รายได้และค่านายหน้า

Q:

รายได้ : การรับรู้รายได้และค่านายหน้า

  1. บริษัทมีการให้บริการดูแลรักษาเครื่องจักร เครื่องใช้ โดยคิดค่าบริการ 100,000 บาท  โดยรับชำระเงินก่อนให้บริการทั้งจำนวน โดยการบริการจะให้บริการทุกๆ 3 เดือน เริ่ม 1 ต.ค. 2561 ถึง 30 กันยายน 2562 (รอบระยะเวลาบัญชี 31 ธันวาคม) ในการรับรู้รายได้บริษัทรับรู้เงินที่รับเป็นรายได้รับล่วงหน้าและตัดจ่ายเป็นรายได้เมื่อให้บริการ
  2. กรณีบริษัทมีข้อตกลงกับพนักงาน กรณีที่ขายบริการได้ จะให้ค่านายหน้าแก่พนักงาน 20 %

    คำถาม

  1. การรับรู้รายได้ตามข้อ 1 บริษัทปฏิบัติถูกต้องตามมาตรฐานบัญชีหรือไม่
  2. ค่านายหน้ารับรู้เป็นค่าใช้จ่ายทั้งจำนวนทันทีที่ที่ขายบริการ (รับเงิน)
  3. กรณีค่านายหน้า หากยังไม่ได้รับเงินในปี 2561 แต่รับเงินในปี 2562 บริษัทต้องรับรู้ค่าใช้จ่ายเมื่อไหร่ และต้องบันทึกบัญชีค้างจ่ายหรือไม่

(คำถามเดือนสิงหาคม – ตุลาคม 2561)

A:
  1. การรับรู้รายได้ตามข้อ 1 บริษัทปฏิบัติถูกต้องตามมาตรฐานบัญชีหรือไม่

        ตอบ หากท่านเป็นกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ การรับรู้รายได้จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 18 เรื่องรายได้ (หรือ มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 15 เรื่อง รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า ในปี 2562)

        หากท่านเป็นกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ การรับรู้รายได้จะต้อง ปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ บทที่ 18 เรื่องรายได้

        ซึ่งย่อหน้าที่ 334 ของมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะได้ระบุไว้ว่า

        การให้บริการ

        334. เมื่อผลของรายการที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสามารถประมาณได้อย่างน่าเชื่อถือ กิจการต้องรับรู้รายการที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการเป็นรายได้ตามขั้นความสำเร็จของรายการ ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน ผลของรายการสามารถประมาณได้อย่างน่าเชื่อถือเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขทุกข้อ ต่อไปนี้

        334.1. กิจการสามารถวัดมูลค่าของจำนวนรายได้ได้อย่างน่าเชื่อถือ

        334.2. มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่กิจการจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจของรายการบัญชีนั้น

        334.3. กิจการสามารถวัดขั้นความสำเร็จของรายการบัญชี ณ วันที่ในงบการเงินได้อย่างน่าเชื่อถือ

        334.4. กิจการสามารถวัดมูลค่าของต้นทุนได้อย่างน่าเชื่อถือ ต้นทุนในที่นี้ หมายถึง ต้นทุนที่เกิดขึ้นแล้วและที่จะเกิดขึ้นเพื่อทำให้รายการบัญชีนั้นเสร็จสมบูรณ์

        (ย่อหน้าดังกล่าวสอดคล้องกับย่อหน้าที่ 20 ของมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 18 เรื่องรายได้)

        ดังนั้นกิจการควรพิจารณาการรับรู้รายได้จากการให้บริการเป็นไปตามเงื่อนไขในมาตรฐานการรายงานทางการเงินดังกล่าว โดยการรับรู้รายได้ตามขั้นความสำเร็จของรายการบัญชี เรียกว่า วิธีอัตราส่วนของงานที่ทำเสร็จ ตามวิธีนี้ กิจการต้องรับรู้รายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการให้บริการ การรับรู้รายได้ตามเกณฑ์ดังกล่าวให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับขอบเขตของบริการที่ให้และผลการปฏิบัติงานระหว่างงวด

        หากกิจการไม่สามารถประมาณผลของรายการบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการได้อย่างน่าเชื่อถือ กิจการต้องรับรู้รายได้ไม่เกินจำนวนค่าใช้จ่ายที่รับรู้ไปแล้ว ซึ่งคาดว่าจะได้รับคืน

    2. ค่านายหน้ารับรู้เป็นค่าใช้จ่ายทั้งจำนวนทันทีที่ที่ขายบริการ (รับเงิน)

        ตอบ การรับรู้ค่านายหน้าเป็นค่าใช้จ่ายทั้งจำนวน ทันทีที่ขายบริการ (รับเงิน) หรือไม่นั้น ให้ท่านพิจารณาตามเนื้อหาของรายการว่ารายจ่ายนั้นก่อให้เกิดรายได้ดังกล่าว หรือมีประโยชน์เชิงเศรษฐกิจอื่นใดในอนาคตหรือไม่ โดยพิจารณาจากคำนิยามของค่าใช้จ่ายและสินทรัพย์ตามที่กำหนดในมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ ย่อหน้าที่ 26 และ 27 ดังนี้

        26.1. สินทรัพย์ หมายถึง ทรัพยากรที่อยู่ในความควบคุมของกิจการ ทรัพยากรดังกล่าวเป็นผลของเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งกิจการคาดว่าจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจจากทรัพยากรนั้นในอนาคต

        27.2. ค่าใช้จ่าย หมายถึง การลดลงของประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในรอบระยะเวลารายงาน หรือการลดค่าของสินทรัพย์หรือการเพิ่มขึ้นของหนี้สิน ซึ่งส่งผลให้ส่วนของเจ้าของลดลง โดยที่ไม่รวมถึงการแบ่งปันให้กับเจ้าของและรายการขาดทุน

        (สอดคล้องกับคำนิยามตามกรอบแนวคิดสำหรับการรายงานทางการเงิน ย่อหน้าที่ 4.4.1 และ 4.25.2 ในกรณีที่ท่านใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ)

        ดังนั้นท่านต้องพิจารณาก่อนว่าการจ่ายค่านายหน้าดังกล่าวเข้าคำนิยามสินทรัพย์หรือค่าใช้จ่าย ก็ให้บันทึกตามคำนิยามของเนื้อหานั้น แต่หากเข้าคำนิยามของสินทรัพย์แล้ว ท่านต้องพิจารณาในการทยอยตัดจำหน่ายสินทรัพย์ดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายให้สัมพันธ์กับรายได้ที่ได้รับประโยชน์ แต่หากเป็นเข้าคำนิยามเป็นค่าใช้จ่าย ก็รับรู้ทันทีที่ขายบริการ

    3. กรณีค่านายหน้า หากยังไม่ได้รับเงินในปี 2561 แต่รับเงินในปี 2562 บริษัทต้องรับรู้ค่าใช้จ่ายเมื่อไหร่ และต้องบันทึกบัญชีค้างจ่ายหรือไม่

        ตอบ มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ ย่อหน้าที่ 10 และ 11 กำหนดให้กิจการใช้เกณฑ์คงค้างในการจัดทำรายงานทางการเงิน ดังนี้

        10. ข้อสมมติที่ใช้ในการนำเสนองบการเงินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ ได้แก่ เกณฑ์คงค้าง และการดำเนินงานต่อเนื่อง

        11. เกณฑ์คงค้างกำหนดให้กิจการต้องรับรู้รายการค้าในรอบระยะเวลาบัญชีที่เกิดรายการนั้น ซึ่งอาจเป็นรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันหรือต่างกันกับรอบระยะเวลาบัญชีที่กิจการได้รับหรือจ่ายชำระเงินสด

        (สอดคล้องกับเกณฑ์คงค้างตามกรอบแนวคิดสำหรับการรายงานทางการเงิน ย่อหน้าที่ วป17 ในกรณีที่ท่านใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ)

        ดังนั้น ท่านต้องพิจารณาก่อนว่ารายการค่าใช้จ่ายดังกล่าวเกิดขึ้นในงวดเวลาใด หากเกิดขึ้นในงวดเวลาใด ก็รับรู้ในงวดเวลานั้น แม้ยังไม่ได้รับหรือจ่ายชำระ และบันทึกรายการค่าใช้จ่ายในงวดเวลาที่เกิดรายการตามเกณฑ์คงค้าง

        ทั้งนี้ขอให้ท่านศึกษาข้อเท็จจริงและเนื้อหาของรายการและศึกษามาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การจัดทำรายงานทางการเงินเป็นไปอย่างเหมาะสม โดยท่านสามารถศึกษามาตรฐานการรายงานทางการเงินในเว็บไซต์ของสภาวิชาชีพบัญชี Click

โพสต์เมื่อ :
7 พ.ย. 2561 17:59:08
โดย :
แก้ไขล่าสุดเมื่อ :
26 เม.ย. 2567 18:36:47
โดย :
 30486
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์