• หน้าแรก

  • ข่าวสาร

  • Newsletter

  • บันทึกการเข้าร่วมประชุม IFAC Ordinary Council Meeting เมืองแวนคูเวอร์ บริติช โคลัมเบีย ประเทศแคนาดาในระหว่างวันที่ 13-14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

บันทึกการเข้าร่วมประชุม IFAC Ordinary Council Meeting เมืองแวนคูเวอร์ บริติช โคลัมเบีย ประเทศแคนาดาในระหว่างวันที่ 13-14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

  • หน้าแรก

  • ข่าวสาร

  • Newsletter

  • บันทึกการเข้าร่วมประชุม IFAC Ordinary Council Meeting เมืองแวนคูเวอร์ บริติช โคลัมเบีย ประเทศแคนาดาในระหว่างวันที่ 13-14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

บันทึกการเข้าร่วมประชุม IFAC Ordinary Council Meeting เมืองแวนคูเวอร์ บริติช โคลัมเบีย ประเทศแคนาดาในระหว่างวันที่ 13-14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

            สภาวิชาชีพบัญชีได้เข้าร่วมประชุมกับ International Federation of Accountants (IFAC) โดยคุณสันติ พงค์เจริญพิทย์ กรรมการในคณะกรรมการวิชาชีพบัญชี ด้านการสอบบัญชีเป็นผู้แทนในการเข้าร่วมประชุม IFACOrdinary Council Meeting จัดขึ้นที่เมืองแวนคูเวอร์ บริติช โคลัมเบีย ประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 13-14 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา


            IFAC เป็นสหพันธ์นักบัญชีระหว่างประเทศที่ทำงานร่วมกับองค์กรสมาชิกกว่า 175 องค์กรใน 130 ประเทศ เพื่อบริการสาธารณะประโยชน์ในการเสริมสร้างวิชาชีพบัญชีและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศด้วย 3 วัตถุประสงค์ในเชิงกลยุทธ์ (1) Global (2) Influential (3) Trusted ในการให้บริการที่สำคัญ 3 ส่วน (1) ความเป็นผู้นำและการสนับสนุนความคิดระดับโลก (2) สร้างขีดความสามารถด้านวิชาชีพบัญชี และ (3) การสนับสนุนการพัฒนาการยอมรับและการปฏิบัติตามมาตรฐาน
            ในการประชุมของ IFAC Ordinary Council ครั้งนี้ มีวาระการประชุมของคณะกรรมการบอร์ดประจำปี ประกอบด้วย In-Ki Joo (ประธานกรรมการบริหาร) Wienand Schruff (ประธานกรรมการตรวจสอบ) Alan Johnson (ประธานการวางแผนและการเงิน) Tommye Barie (ประธานการกำกับดูแล) Kevin Dancey (กรรมการผู้บริหาร) Joseph Bryson (กรรมการด้านคุณภาพและการพัฒนา) David Isherwood (Chairman Forum of Firms) Tom Seidenstein (Chairman IAASB) Stavros Thomadakis (Chairman IESBA) Ian Carruthers (Chairman IPSASB) James Gunn (Managing Director Professional Standards IFAC Board Member) และ IFAC Council Members ของแต่ละประเทศ


            การประชุมได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์และการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้นำขององค์กรซึ่งเป็นสมาชิก IFAC ของแต่ละประเทศ การแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ ความรู้ ข่าวสารและการทำกิจกรรมร่วมกันของสหพันธ์นักบัญชีระหว่างประเทศทั่วโลก ทำให้ IFAC Council มีความเป็นหนึ่งเดียวในโลก (Global) เป็นผู้นำที่มีอิทธิพลในการนำพาองค์กรสหพันธ์นักบัญชี (Influential) และมีความเชื่อถือ (Trusted) เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์ของ IFAC ดังนี้

  • สนับสนุนการพัฒนาการยอมรับและการปฏิบัติมาตรฐานสากลที่มีคุณภาพสูง ด้วยการสนับสนุนให้มีการกำหนดมาตรฐานที่เป็นอิสระ และจัดหาทรัพยากรเพื่อปรับปรุงและส่งเสริมความสามารถในการให้บริการเพื่อสาธารณะประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพและทันเวลา และสนับสนุนการทำงานขององค์กรมาตรฐานระหว่างประเทศที่เป็นอิสระอื่น ๆ
  • การเตรียมพร้อมวิชาชีพบัญชีเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตด้วยการเพิ่มขีดความสามารถของนักบัญชีมืออาชีพในอนาคตผ่านโครงการเสริมสร้างศักยภาพวิชาชีพบัญชีของ IFAC ด้วยการร่วมมือกันกับพันธมิตรและองค์กรสมาชิกในการเผยแพร่ความรู้และทักษะของวิชาชีพบัญชีที่จำเป็นสำหรับอนาคต เช่น ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและรูปแบบธุรกิจสมัยใหม่ เพื่อพัฒนาศักยภาพของวิชาชีพบัญชีในรุ่นต่อ ๆ ไปให้มีทักษะด้านดิจิทัลที่จำเป็น เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) บล็อกเชน (Block Chain) การวิเคราะห์บิ๊กดาต้า (Data Analytic) การรักษาความมั่นคงปลอดภัยในโลกไซเบอร์ (Cyber Security) ความเสี่ยงที่ทำเกิดวิกฤตและโอกาสจากเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก (Disruptive Technology) โดยเน้นให้มีการศึกษาและการฝึกอบรมรวมถึงการเรียนรู้ต่อเนื่อง

            ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการสนทนาพูดคุยและการจัดกิจกรรมระหว่างองค์กรนักบัญชีมืออาชีพ เพื่อให้ตระหนักถึงบทบาทของวิชาชีพในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและความคาดหวังของสังคมประชาคมโลกและกฎระเบียบ ซึ่งมีหัวข้อที่สำคัญสรุปได้พอสังเขปดังนี้
            ความสำคัญของมาตรฐานสากลที่นำมาใช้ทั่วโลก
ช่วยเพิ่มคุณค่าความสมบูรณ์ทางจริยธรรมของวิชาชีพ คุณค่าและคุณภาพของการสอบบัญชี บทบาทวิชาชีพในการกำกับดูแลด้านบัญชีและการเงิน การกำกับดูแลกิจการที่ดี จริยธรรม และการจัดการการฉ้อโกงและการทุจริต รวมถึงการกำกับดูแลกิจการและการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ การเพิ่มความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือของการใช้รายงานทางการเงิน เป็นต้น
            IFAC ให้คำแนะนำแก่สมาชิกองค์กรเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้หลักจรรยาบรรณสากลสำหรับนักบัญชีมืออาชีพ รวมถึงมาตรฐานความเป็นอิสระระหว่างประเทศในการให้คำแนะนำด้านภาษีและวิชาชีพอื่น ๆ โดยได้จัดทำIESABA’s eCode อันเป็นนวัตกรรมแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีความอัจฉริยะในการค้นหา ซึ่งจะช่วยให้นักบัญชีมืออาชีพสามารถค้นหาหลักจรรยาบรรณสากลรวมถึงมาตรฐานความเป็นอิสระระหว่างประเทศ (รหัสที่ได้รับการแก้ไขและปรับโครงสร้าง)
            กาลเวลาแห่งการปฏิรูปสู่อนาคต ในระหว่างของการประชุมตัวแทนองค์กรสมาชิก IFAC ได้ให้ทัศนะและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบจากเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ต่อวิชาชีพบัญชีในอนาคตว่าต้องปฏิรูปการให้บริการวิชาชีพเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและสภาพแวดล้อมในการให้บริการวิชาชีพบัญชีที่เปลี่ยนแปลงไป
            ที่ผ่านมานักบัญชีทำแต่สิ่งเดิม ๆ (Doing the same things) เช่น ใช้ Excel ในการวิเคราะห์เปรียบเทียบ กระทบยอดคงเหลือ และเลือกตัวอย่างเพื่อเตรียมสารสนเทศสำหรับการตัดสินใจ ต่อมานักบัญชีก็พัฒนาด้วยการทำสิ่งเดิมด้วยวิธีการใหม่ (Doing the same things differently) เช่น การทำขั้นตอนต่าง ๆ ทำงานโดยอัตโนมัติ การใช้โปรแกรมซอฟต์แวร์ด้านการนำเสนอแผนภาพข้อมูล (Data Visualization Software) การเพิ่มการเรียนรู้ด้วยตัวเองและการเรียนรู้ตลอดชีพ จนมาถึงปัจจุบันที่นักบัญชีต้องปฏิรูปด้วยการทำในสิ่งที่แตกต่างไป (Doing different things) คือ ต้องปฏิรูปวิธีการทำงานและการให้บริการที่แตกต่างจากเดิม ซึ่งต้องอาศัยการพัฒนาความรู้และความสามารถในการที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่มาใช้ในการทำงาน




            รายงานผลการสำรวจความต้องการนักบัญชีที่มีศักยภาพสูง คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นกว่าถัวเฉลี่ย 10% ในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะสูงกว่าค่าถัวเฉลี่ยของวิชาชีพอื่น ๆ ทำให้เกิดการขาดแคลนในกลุ่มนักบัญชีที่มีศักยภาพสูง ซึ่งเป็นที่ต้องการของบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางอย่างมาก และผลสำรวจตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดวิชาชีพบัญชีในปี 2022 ปรากฏว่า 10 อันดับแรกของตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการ คือ นักวิทยาศาสตร์และนักวิเคราะข้อมูล (Data Analysts & Scientists) ผู้เชี่ยวชาญด้านบิ๊กดาต้า (Big data Specialists) ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับเปลี่ยนธุรกิจด้วยดิจิทัล (Digital Transformation Specialist) และผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Services) และ 10 อันดับแรกของตำแหน่งงานที่ความต้องการจะลดลง ได้แก่ นักบัญชีที่ทำหน้าที่บันทึกข้อมูลเข้าระบบ (Data Entry Clearly Accountant) ผู้บันทึกรายการบัญชีและคำนวณเงินเดือน (Bookkeeping and Payroll Clerks) และนักบัญชีและผู้สอบบัญชีทั่วไป (General Accountant and Auditors) ที่ไม่มีความชำนาญเฉพาะด้านดิจิทัล เป็นต้น ซึ่งจะเห็นว่านักบัญชีมืออาชีพนั้นจะเป็นเพียงแค่คนดีอย่างเดียวคงไม่เพียงพอต้องพัฒนาตนเองให้เป็นซูปเปอร์ฮีโร่ เนื่องจากนักบัญชีมืออาชีพตามความต้องการของตลาดในอนาคตนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นนักบัญชีมืออาชีพต้องปฏิรูปและพัฒนาไปในทิศทางของตลาดจึงจะสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืน
            IFAC สนับสนุนสมาชิกให้มีความรู้และความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับอนาคต เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ที่ทำให้เกิดการการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ (Digital Disruption) และความต้องการบริการใหม่และความชำนาญใหม่ที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีระดับสูงในการปฏิบัติงานด้านวิชาชีพบัญชี ซึ่งนักบัญชีมืออาชีพต้องปฏิรูปความรู้ความสามารถที่สามารถตอบสนองความต้องการของการให้บริการวิชาชีพที่เปลี่ยนไป โดยนักบัญชีต้องปรับเปลี่ยนจากการทำสิ่งเดิม ๆ ที่เป็นอยู่ไปเป็นการทำในสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิม ด้วยความรู้ ความสามารถและความชำนาญด้านดิจิทัล IFAC ได้ออกแนวปฏิบัติเพื่อสนับสนุนองค์กรวิชาชีพบัญชี (PAOs) ในการปฏิรูปนักบัญชีมืออาชีพให้มีความรู้และความสามารถ อันจะทำให้นักบัญชียังคงไว้ซึ่งความเกี่ยวข้อง (Relevant) เป็นที่ยอมรับ (Reputation) และสามารถเพิ่มคุณค่า (Valued) ให้กับผู้มีส่วนได้เสียได้
            การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวโดยรวม IFAC ได้ยกระดับคุณภาพของมาตรฐานระหว่างประเทศควบคู่ไปกับการเติบโตขององค์กรสมาชิกด้วยการ ยกระดับมาตรฐานการศึกษาด้านการบัญชีระหว่างประเทศ(IES) ด้วยการส่งเสริมให้ใช้เครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเพิ่มขีดความสามารถของนักบัญชีมืออาชีพ อันเป็นการสร้างโอกาสและความได้เปรียบภายใต้วิกฤตจากเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกที่มีต่อวิชาชีพซึ่งเป็นการปฏิรูปเพื่อทำให้ผู้มีส่วนได้เสียตระหนักถึงบทบาทของนักบัญชีที่ยังคงไว้ซึ่งความเกี่ยวข้อง(Relevant) เป็นที่ยอมรับ (Reputation) และสามารถเพิ่มคุณค่า (Valued) ให้กับผู้มีส่วนได้เสียได้ ทำให้นักบัญชียังคงเป็นที่ต้องการของธุรกิจต่อไป

โดย..นายสันติ พงค์เจริญพิทย์
กรรมการในคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีด้านการสอบบัญชี


โพสต์เมื่อ :
14 เม.ย. 2563 11:44:04
 3498
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์