ภาษีกับกองทุนรวมตราสารหนี้

ภาษีกับกองทุนรวมตราสารหนี้

            ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้มีการตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๒) พ.ศ. ๒๕๖๒ มีสาระสำคัญ เป็นการกำหนดให้กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร๑ โดยฐานที่ใช้ในการคำนวณภาษี ได้แก่ เงินได้ตามมาตรา ๔๐ (๔) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร๒ และต้องนำเงินได้ดังกล่าวก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ไปคำนวณเพื่อเสียภาษีในอัตราร้อยละสิบห้าของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี๓ โดยมีผลใช้บังคับในวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ เป็นต้นไป แต่ไม่ใช้บังคับกับการลงทุนหรือการฝากเงินของกองทุนรวมที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ไม่ว่าจะได้รับดอกเบี้ยหลังวันที่กฎหมายใช้บังคับแล้วก็ตาม โดยเหตุผลของการตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เพื่อให้ภาระภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้โดยตรงสอดคล้องกับการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม
            ในบทความนี้จะได้อธิบายถึงภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เกี่ยวกับการลงทุนในตราสารหนี้และการลงทุนในกองทุนรวม

๑พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๒) พ.ศ. ๒๕๖๒
            มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๓/๑) ของบทนิยามคำว่า “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ในมาตรา ๓๙ แห่งประมวลรัษฎากร
            “(๓/๑) กองทุนรวมที่เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ”


๒พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๒) พ.ศ. ๒๕๖๒
            มาตรา ๑๐ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๑๕) ของมาตรา ๖๕ ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร “(๑๕) บริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นกองทุนรวมไม่ต้องนำรายได้อันมิใช่เงินได้ ตามมาตรา ๔๐ (๔) (ก) มารวมคำนวณเป็นรายได้

๓พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๒) พ.ศ. ๒๕๖๒
            มาตรา ๑๑ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๗ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา ๖๗ การเสียภาษีตามความในส่วนนี้ ให้เสียตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวดนี้ เว้นแต่

      (๑) ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา ๖๖ วรรคสอง กระทำกิจการขนส่ง ผ่านประเทศ ต่าง ๆ ให้เสียภาษีเฉพาะกิจการขนส่งตามเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

            (ก) ในกรณีรับขนคนโดยสารให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ ๓ ของค่าโดยสาร ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บในประเทศไทยก่อนหักรายจ่ายใด ๆ เนื่องในการรับขนคนโดยสารนั้น
            (ข) ในกรณีรับขนของให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ ๓ ของค่าระวาง ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บไม่ว่าในหรือนอกประเทศไทย ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ เนื่องในการรับขนของออกจากประเทศไทยนั้น 

      (๒) มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้อันมิใช่รายได้ตามมาตรา ๖๕ ทวิ (๑๓) ให้เสียภาษี ในอัตราร้อยละ ๑๐ ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ

      (๓) เงินได้ตามมาตรา ๔๐ (๔) (ก) ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นกองทุนรวม ให้เสียภาษี ในอัตราร้อยละ ๑๕ ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ”

            ก่อนการแก้ไขกฎหมายนี้ “กองทุนรวม” จัดได้ว่ามีสองประเภท คือ กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๑๕ ซึ่งมีสถานะเป็น “คณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล” และอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กับอีกประเภทหนึ่งคือ กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งไม่เป็นหน่วยภาษีเงินได้แต่อย่างใด

            ก่อนการแก้ไขกฎหมายนี้ ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงทุนในตราสารหนี้โดยตรง จะมีเงินได้เกิดขึ้นคือ ดอกเบี้ย ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๔) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร และกำไรจากการขายหน่วยลงทุน เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๔) (ช) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อาจได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ ๒ (๓๐) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๒๖ฯ๔ ส่วนการลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ จะมีเงินได้เกิดขึ้นคือ เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๘) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่มีสิทธิเลือกไม่นำไปรวมคำนวณหากยอมให้ผู้จ่ายเงินได้นั้นหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา ๕๐ (๒) แห่งประมวลรัษฎากรในอัตราร้อยละ ๑๐.๐ ของเงินได้ เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ ดังกล่าวไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืน หรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน๕ และกำไรจากการขายหน่วยลงทุนเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๘) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ อันไม่รวมถึงเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาวตามกฎหมาย ว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ ๒ (๓๒) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๒๖ฯ๖

ตั้งแต่วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นสองประเด็นหลัก คือ ภาระภาษีของกองทุนรวม และภาระภาษีของผู้ลงทุนในกองทุนรวม กล่าวคือ

๑) ภาระภาษีของกองทุนรวม
            ประมวลรัษฎากรกำหนดให้กองทุนรวมที่เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามนิยามในมาตรา ๓๙ แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย จึงเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่กองทุนรวมนั้น มีหน้าที่เสียภาษีเฉพาะเงินได้ที่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๔) (ก) แห่งประมวลรัษฎากรเท่านั้น โดยเสียในอัตราร้อยละ ๑๕.๐ ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่าย ฉะนั้น กองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ จะได้รับผลกระทบจากการแก้ไขประมวลรัษฎากรครั้งนี้ เพราะกองทุนรวมประเภทดังกล่าว จะมีเงินได้หลักเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๔) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร

๒) ภาระภาษีของผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวม
            เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรที่กองทุนรวมจ่ายให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๔) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร เพราะเป็นเงินปันผล หรือเงินส่วนแบ่งกำไรที่จ่ายจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งกองทุนรวมจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ ๑๐.๐ ของเงินได้ดังกล่าว ตามมาตรา ๕๐ (๒) (จ) แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี ผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยจะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ ๑๐.๐ ของเงินได้ Final Tax โดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีปลายปีก็ได้
            จะเห็นว่า เมื่อกฎหมายกำหนดให้กองทุนรวมมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล อัตราภาษีที่แท้จริง (Effective Tax Rate) ของผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนตราสารหนี้จะสูงขึ้น เพราะเดิมกองทุนรวมตราสารหนี้ไม่มีหน้าที่เสียภาษี ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมดังกล่าวมีอัตราภาษีที่แท้จริงสำหรับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรจากกองทุนรวมเพียงอัตราร้อยละ ๑๐.๐ ของเงินได้ เพราะสามารถเลือกไม่นำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณหากยอมให้กองทุนรวมผู้จ่ายเงินได้นั้นหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา ๕๐ (๒) แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ ๑๐.๐ ของเงินได้ ในทางกลับกันหากบุคคลธรรมดาลงทุนในตราสารหนี้โดยตรง เงินได้ที่ได้รับจากการลงทุนดังกล่าว อันเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๔) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ ๑๕.๐ ตามมาตรา ๕๐ (๒) แห่งประมวลรัษฎากร อัตราภาษีที่แท้จริงจะเป็นร้อยละ ๑๕.๐ ซึ่งสูงกว่าการลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้

๔www.rd.go.th/publish/2502.0.html
๕http://www.rd.go.th/publish/2393.0.html
๖www.rd.go.th/publish/2502.0.html

โดย..ดร. อาทิตย์ ศรัทธาวรสิทธิ์
ที่ปรึกษาคณะกรรมการวิชาชีพบัญชี ด้านการบัญชีภาษีอากร


โพสต์เมื่อ :
21 เม.ย. 2563 10:11:46
 4844
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์