การสอบบัญชีกับการทุจริต

การสอบบัญชีกับการทุจริต

            ทุกวันนี้ไม่ว่าเศรษฐกิจไทยจะดีหรือไม่ดี ภายในกิจการเองย่อมมีโอกาสในการทุจริตกันได้เสมอถ้าคนในสังคมละเลยคำว่า “หิริโอตตัปปะ” คือความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ก่อนอื่นผู้สอบบัญชีควรจะทราบว่าการที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะทำการทุจริตจะมีองค์ประกอบใดบ้าง ซึ่งตามทฤษฎีสามเหลี่ยมการทุจริต (Fraud Triangle) ของ Donald R. Cressey ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย สรุปปัจจัยเสี่ยงในการทุจริตได้ 3 ประการ ดังนี้

  1. Pressure หมายถึง สิ่งจูงใจหรือแรงกดดันที่จะทำการทุจริต
  2. Opportunity หมายถึง โอกาสที่จะทำการทุจริต
  3. Rationalization หมายถึง ความสามารถในการหาเหตุผลอันสมควรสนับสนุนการกระทำทุจริต

            เมื่อผู้สอบบัญชีเข้าไปตรวจสอบกิจการจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ และต้องมองย้อนกลับไปทบทวนมาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 240 เรื่อง “ความรับผิดชอบของผู้สอบบัญชีเกี่ยวกับการพิจารณาการทุจริตในการตรวจสอบงบการเงิน” มาตรฐานการสอบบัญชีฉบับนี้ให้ถือปฏิบัติกับการตรวจสอบงบการเงินสำหรับรอบบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 ผู้เขียนยังจำได้ว่าช่วงนั้นเหล่าผู้สอบบัญชีทั้งหลายให้ความสนใจในมาตรฐานฉบับนี้เป็นอย่างมาก
            ผู้สอบบัญชีต้องคำนึงว่าการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงในงบการเงินสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากการทุจริตหรือเกิดจากข้อผิดพลาด การจำแนกระหว่างการทุจริตและข้อผิดพลาดเหล่านั้น สามารถพิจารณาได้จากพื้นฐานของการกระทำที่ส่งผลต่อการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงในงบการเงินว่า เป็นการกระทำโดยเจตนาหรือไม่ แม้ว่าการทุจริตตามคำนิยามในทางกฎหมายมีขอบเขตที่กว้าง แต่สำหรับมาตรฐานการสอบบัญชี ผู้สอบบัญชีต้องคำนึงถึงการทุจริตที่เป็นสาเหตุให้งบการเงินแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ซึ่งประเภทของการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงโดยเจตนาที่ผู้สอบบัญชีต้องคำนึงถึงมีอยู่ 2 ประเภท คือ
  1. การจัดทำรายงานทางการเงินที่ทุจริต และ
  2. การใช้สินทรัพย์ในทางที่ไม่เหมาะสม

            แม้ว่าผู้สอบบัญชีอาจสงสัยการทุจริตหรืออาจระบุเหตุการณ์ของการทุจริตได้ แต่ผู้สอบบัญชีไม่ได้เป็นผู้ที่มีหน้าที่ทางกฎหมายในการหาข้อสรุปว่า มีการทุจริตเกิดขึ้นจริงหรือไม่ กระบวนการเหล่านี้ต้องไปพิสูจน์ในชั้นศาลที่มีกระบวนการไต่สวนกันตามกฎหมาย ซึ่งกระบวนการทางกฎหมายนั้นผู้สอบบัญชีอาจจะต้องขึ้นศาลในฐานะพยานที่เปิดเผยข้อเท็จจริงที่ตรวจพบ หรือกระบวนการในการตรวจสอบเท่านั้น ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับทนายจะซักถามข้อเท็จจริงจากผู้สอบบัญชีหรือไม่

            ส่วนตัวผู้เขียนเองมักเลือกที่จะใช้การประเมินความเสี่ยงตั้งแต่ขั้นตอนการรับงานแล้วว่าจะมีประเด็นในเรื่องของการทุจริตหรือไม่ อย่างไร ซึ่งบางครั้งก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเหล่านั้นได้ความเสี่ยงของผู้สอบบัญชีที่ไม่สามารถตรวจพบการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงซึ่งเป็นผลมาจากการทุจริตของผู้บริหารนั้นมีมากกว่าความเสี่ยงที่ผู้สอบบัญชีไม่สามารถตรวจพบการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงซึ่งเป็นผลมาจากการทุจริตของพนักงาน เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วผู้บริหารอยู่ในตำแหน่งที่สามารถบิดเบือนรายการบันทึกทางบัญชีทั้งทางตรงและทางอ้อมอีกทั้งแสดงข้อมูลทางการเงินอันเป็นเท็จหรือเข้าแทรกแซงการควบคุมที่ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการทำทุจริตของพนักงานทั่วไป เมื่อเราทราบเช่นนี้ ผู้สอบบัญชีต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในการพิจารณาผู้บริหาร ซึ่งในทางปฏิบัติทำได้ยากดังสุภาษิตไทยว่า “รู้หน้าไม่รู้ใจ” แต่ถ้าหากผู้สอบบัญชีอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกติซึ่งกระทบต่อความสามารถในการปฏิบัติงานตรวจสอบต่อ โดยเป็นผลมาจากการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญซึ่งเป็นผลมาจากการทุจริตหรือข้อสงสัยการทุจริต ผู้สอบบัญชีต้องพิจารณาดังนี้

ก. พิจารณาถึงความรับผิดชอบทางวิชาชีพและทางกฎหมายภายใต้สถานการณ์นั้น ๆ รวมถึงพิจารณาถึงข้อกำหนดที่ผู้สอบบัญชีต้องรายงานให้แก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ทำหน้าที่แต่งตั้งผู้สอบบัญชีหรือในบางกรณีรายงานต่อหน่วยงานกำกับดูแล
ข. พิจารณาถึงความเหมาะสมที่จะถอนตัวจากการเป็นผู้สอบบัญชีในกรณีที่การถอนตัวนั้นเป็นไปได้ภายใต้กฎหมายหรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
ค. หากผู้สอบบัญชีถอนตัว ให้ดำเนินการดังนี้

  1. ปรึกษาหารือกับผู้บริหารในระดับที่เหมาะสมหรือผู้มีหน้าที่ในการกำกับดูแลถึงการถอนตัวของผู้สอบบัญชีจากงานสอบบัญชีและเหตุผลของการถอนตัวจากการสอบบัญชี และ
  2. พิจารณาว่ามีข้อกำหนดของวิชาชีพหรือข้อกำหนดตามกฎหมายที่กำหนดให้ต้องรายงานต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ทำหน้าที่แต่งตั้งผู้สอบบัญชี หรือในบางกรณีรายงานต่อหน่วยงานกำกับดูแลให้ทราบถึงการถอนตัวของผู้สอบบัญชีจากงานสอบบัญชี และเหตุผลของการถอนตัวจากการสอบบัญชีด้วยหรือไม่
สุดท้ายนี้ ผู้สอบบัญชีทั้งหลายคงจะไม่มีผู้ใดต้องการที่จะขึ้นศาลเพื่อเป็นพยาน แต่บางครั้งเราไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากเราได้รับงานและไปตรวจสอบกิจการเหล่านั้นแล้ว ดังนั้นเราต้องทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาและเก็บข้อมูลหลักฐานอย่างเพียงพอ

โดย..ดร.กนกศักดิ์ สุขวัฒนาสินิทธิ์
อนุกรรมการมาตรฐานด้านการสอบบัญชีและ
เทคนิคการสอบบัญชี


โพสต์เมื่อ :
23 เม.ย. 2563 10:26:57
 20633
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์