Future of Finance

Future of Finance

            ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการขับเคลื่อนระบบอุตสาหกรรม ระบบงานในองค์กร รวมถึงเทคโนโลยีที่ใช้ในการอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันซึ่งได้มีการพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด และได้มาถึงจุดที่เราทุกคนต้องมาตระหนักถึงความสำคัญผลกระทบและความพร้อมของตนเองในหลายมิติ โดยเฉพาะหากเราเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรไม่ว่าขนาดเล็กขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ เราจะต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อให้เราและองค์กรสามารถก้าวทันไปกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลาโดยมุ่งให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กรผู้ถือหุ้น รวมถึงระบบนิเวศน์ในสังคมอย่างยั่งยืน เรียกได้ว่าโลกก้าวไปเราก้าวทันอย่างมั่นคง
            สำหรับสายงานด้านบัญชีและการเงิน ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านงานวิจัยที่น่าสนใจของ McKinsey & Companyซึ่งแสดงผลการศึกษาโดยภาพรวมว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถมาแทนที่การใช้แรงงานมนุษย์ในกิจกรรมทางบัญชีและการเงิน โดยกิจกรรมร้อยละ 40 สามารถแทนที่ได้อย่างสมบูรณ์ (Fully Automated) และร้อยละ 17 สามารถแทนที่ได้บางส่วน (Mostly Automated) ในรายละเอียดแล้วกิจกรรมทางบัญชีและการเงินที่รวมอยู่ในการศึกษา เริ่มตั้งแต่งานบันทึกบัญชีทั่วไป การเบิกจ่ายเงินสด การบริหารรายได้ การควบคุมทางการเงินและการจัดทำรายงาน การวางแผนและวิเคราะห์ทางการเงิน ขั้นตอนทางภาษี การบริหารทรัพย์สินทางการเงิน การบริหารความเสี่ยงรวมจนถึงงานตรวจสอบบัญชี เป็นต้น เรียกได้ว่าเกินกว่ากึ่งของงานในปัจจุบันสามารถเป็น Automation ได้หมดแล้ว มองในแง่ดีคือ เทคโนโลยีที่ก้าวไปทำให้แต่ละองค์กรที่พัฒนาไปสามารถที่จะจัดสรรทรัพยากร

แหล่งที่มา : McKinsey Global Institute analysis; McKinsey analysis(A)

            บุคคลที่มีอยู่ในแต่ละส่วนงานที่สามารถแทนที่ด้วย Robot ไปทำงานที่มี Value Added มากขึ้นและปล่อยให้ Robot จัดการงานธุรกรรมไปอย่างเป็นระบบ โดยองค์รวมแล้วน่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรได้มากเลยทีเดียว
            ยกตัวอย่าง การทำประมาณการทางการเงินซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดทิศทางขององค์กร ซึ่งในอดีตต้องมีขั้นตอนมากมายในการรวบรวมข้อมูล ใช้คนในหลายส่วนงานในการจัดทำโปรแกรมตารางต่าง ๆ ประกอบกับเวลาที่ใช้จัดทำประมวลผลค่อนข้างมากเพื่อให้ได้ประมาณการในแต่ละสถานการณ์ที่เป็นไปได้ ปัจจุบันได้มีเทคโนโลยีที่พัฒนาอัลกอริทึมจากฐานข้อมูลต่าง ๆ อาทิ ข้อมูลยอดขาย ห่วงโซ่อุปทาน ความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงข้อมูลทางสถิติและตัวบ่งชี้ต่าง ๆ โดยการประมวลผลทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว รอบด้านและทันต่อการใช้งานมากกว่าการจัดทำโดยบุคคลากรดังในอดีต นอกจากนี้ การปรับตัวที่เริ่มเห็นในปัจจุบันขององค์กรขนาดใหญ่ได้มีการใช้ระบบ Shared - Service Center เพื่อรวมศูนย์หน่วยงานเฉพาะอาทิเช่น บัญชี การเงิน บริหารทรัพยากรบุคคล และให้บริการแก่หน่วยงานอื่นอย่างเป็นระบบซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของงานบริการ อีกทั้งสามารถลดต้นทุนการจัดการโดยรวม และได้ Scale ที่จะนำ Robotic Process Automation (RPA) เข้ามาจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
            การปรับตัวขององค์กรและบุคคลากรเพื่อรองรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป คงไม่ใช่การปรับเปลี่ยนเพียงข้ามคืนหรือใช้เพียงเงินทุนเท่านั้นในการปรับเปลี่ยนแต่คงต้องเป็นการปรับเปลี่ยนองค์รวมขององค์กร อาศัยความร่วมมือของทุก ๆ หน่วยงานไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานบัญชีและการเงิน หน่วยงานสารสนเทศ หน่วยธุรกิจหลักเป็นต้น ซึ่งรวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้และสร้างความตระหนักของบุคคลากรในองค์กรด้วย เกี่ยวข้องกับการปรับใช้เทคโนโลยีขอทิ้งท้ายบทความด้วยงานสำรวจของ CGMA ที่ให้ผู้เข้าร่วมทำการสำรวจความตระหนักและแผนการนำมาใช้สำหรับ7 เครื่องมือทางเทคโนโลยีหลักที่มีผลกระทบต่องานด้านการเงินซึ่งเคยมีการทำวิจัยไว้ก่อนหน้านี้โดย Deloitte ในปี 2016 (Finance In a Digital World) โดย Deloitte ได้แบ่งเครื่องมือทางเทคโนโลยีทั้ง 7 ตัวเป็น 2 หมวด กล่าวคือ Core Modernization และ Exponential ที่น่าสนใจคือ ผลสำรวจว่า Advanced Analytics ดูจะได้รับความสนใจและถูกนำมาใช้มากกว่า Process Robotics ซึ่งแต่เดิม Deloitte เคยเห็นว่าเป็นเครื่องมือทางเทคโนโลยีหลักเสียอีก

Core modernization and exponential tools impacting the finance function

แหล่งที่มา : CGMA Re-inventing finance for a digital world, Table 3- Core modernisation and exponential tools impacting the finance function

            เพื่อเป็นข่าวสารเนื่องด้วยเป็นหัวข้อที่เกี่ยวเนื่องกับเนื้อหานี้ สภาวิชาชีพบัญชี จะมีการจัดงาน TFAC Conference 2019 - Future of Finance : Digital Disruption ขึ้นในวันเสาร์ที่ 28 กันยายน 2562 เวลา 9.00 – 17.00 น. ณ โรงแรมเซนทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อให้ผู้ประกอบการ ผู้ประกอบวิชาชีพและผู้สนใจทั่วไป ได้รับทราบทิศทางอนาคตทางการเงินในมุมมองระดับโลกจาก Mr.Szilard Brenner ACCA, FCMA CGMA, Head - Business Transformation at Valiram และยังจะได้ฟังการเสวนาเกี่ยวกับนโยบาย กลยุทธ์ แผนงาน ประโยชน์ที่จะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจาก Digital Disruption ของประเทศไทยจากผู้แทนหน่วยงานกำกับดูแลของไทย ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมสรรพากร การอัพเดทเทรนด์ของการประกอบวิชาชีพบัญชีให้เป็นคู่คิดของธุรกิจในยุค Digital Disruption จากผู้แทนจากสำนักตรวจสอบบัญชีขนาดใหญ่ และเรายังได้รับเกียรติจาก ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขึ้นบรรยายในภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงในยุค Digital Disruption

อ้างอิง

  1. (A) Bots, algorithms, and the future of the finance function, January 2018, by Frank Plaschke, Ishaan Seth, and Rob Whiteman (https://www.mckinsey.com/business-functions/strategy-and-corporate-finance/our-insights/bots-algorithms-and-the-future-of-the-finance-function)
  2. Memo to the CFO: Get in front of digital finance – or get left back, July 2018, by By Kapil Chandra, Frank Plaschke, and Ishaan Seth (https://www.mckinsey.com/business-functions/strategy-and-corporate-finance/our-insights/memo-to-the-cfo-get-in-front-of-digital-finance-or-get-left-back)
  3. CGMA: Re-inventing finance for a digital world (The future of finance) https://www.cimaglobal.com/Documents/Future%20of%20Finance/future-re-inventing-finance-for-a-digital-world.pdf
  4. CGMA: Changing technology and finance https://www.cgma.org/content/dam/cgma/resources/reports/downloadabledocuments/changing-technology-finance-cgma.pdf

โดย..นางสาวสลิลรัตน์ แก้วคตฆะศิริ
กรรมการ ในคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีด้านการบัญชีบริหาร


โพสต์เมื่อ :
23 เม.ย. 2563 13:08:21
 2659
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์