COVID-19 ข้อพิจารณาในการรายงานของผู้สอบบัญชี

COVID-19 ข้อพิจารณาในการรายงานของผู้สอบบัญชี

ขอบเขต
            บทความหัวเรื่อง COVID-19 ข้อพิจารณาในการรายงานของผู้สอบบัญชีต่องบการเงินนี้เป็นการรายงานทางบัญชีที่ถือปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินโดยไม่ได้นำทางเลือก มาตรการผ่อนปรนชั่วคราว “ทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชีจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19” มาถือปฏิบัติ
            การระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของมนุษย์ทั่วโลก การแพร่กระจายของโรคระบาดมีผลกระทบทางเศรษฐกิจให้ถดถอยรุนแรง หลายภาคส่วนของเศรษฐกิจกำลังประสบกับความเสียหายและผลกระทบทางธุรกิจในระยะยาวซึ่งยังไม่สามารถคาดคะเนได้ ท่ามกลางผลกระทบของสถานการณ์ COVID-19 กิจการที่ได้รับผลกระทบอาจเผชิญกับความท้าทายในการจัดทำรายงานทางการเงิน เช่น การหยุดชะงักของธุรกิจและการผลิต ความผันผวนในตลาดทุนและตราสารหนี้ รายได้และกระแสเงินสดที่ลดลงและผลกระทบทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
            แม้มีการสกัดกั้นการแพร่กระจายในวงกว้างของ COVID-19 แต่ยังมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อตลาดการเงินโลกและรายงานทางการเงิน กิจการควรพิจารณาเรื่องการเปิดเผยข้อมูลบางประการที่จะส่งผลกระทบต่อรายงานทางการเงิน ดังนี้

  • การหยุดชะงักทันทีของการผลิต
  • การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน
  • แรงงานหยุดชะงักและความไม่พร้อมของบุคลากร
  • การลดลงของยอดขาย รายได้ หรือผลิตผล
  • การหยุดชะงักหรือหยุดการเดินทางเพื่อทำธุรกิจที่ไม่จำเป็น
  • การปิดร้านค้าและสิ่งอำนวยความสะดวก

            นอกจากนี้ กิจการควรพิจารณาถึงผลกระทบทางลบที่ได้รับจากการแพร่กระจายเพิ่มขึ้นของโรคระบาดอย่างกว้างขวางต่อเศรษฐกิจโลกและตลาดทุนที่สำคัญ

ข้อพิจารณาทางบัญชี
            สถานการณ์ COVID-19 อาจมีผลกระทบทางบัญชีจำนวนมากต่อกิจการที่มีบริษัทย่อย การดำเนินงานการลงทุนหรือการร่วมค้าในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด หน่วยงานที่มีผู้จัดจำหน่ายหรือลูกค้าที่สำคัญในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด รวมถึงหน่วยงานที่มีธุรกรรมการให้กู้ยืมหรือการกู้ยืมจากหน่วยงานในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสอาจประสบปัญหาทางบัญชี นอกจากนี้การรายงานผลกระทบทางการเงินที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้ถูกจำกัดเฉพาะหน่วยงานหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกันโดยตรงที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 แต่อาจเกี่ยวโยงกับกิจการอื่นที่เกี่ยวข้องกันทางอ้อม เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่กว้างขึ้นของสถานการณ์ COVID-19 ต่อตลาดการเงินจึงอาจเหมาะสมที่กิจการต้องพิจารณาผลกระทบการแพร่กระจายของโรคระบาดในการรายงานทางการเงินและการเปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงินซึ่งอาจสรุปได้ดังต่อไปนี้

  • การด้อยค่าของสินทรัพย์ (รวมถึงค่าความนิยม)
  • การประเมินค่าและการด้อยค่าของลูกหนี้ เงินให้กู้ยืมและเงินลงทุน
  • การประเมินมูลค่าสินทรัพย์และภาระผูกพันตามโครงการผลประโยชน์ที่กำหนดไว้
  • ความเสียหายและผลขาดทุนที่อาจเกิดขึ้น
  • การชดเชยสินค้าคงเหลือและการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในสัญญาที่ให้กับลูกค้า
  • ภาระผูกพันตามสัญญา
  • สวัสดิการพนักงานและผลประโยชน์เมื่อเลิกจ้าง
  • การดำรงอยู่ของกิจการ
  • เหตุการณ์ภายหลังวันที่ในงบการเงิน
  • การได้รับเงินชดเชยจากการประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับการหยุดชะงักทางธุรกิจ
  • สัญญาเช่า


            การรับรู้ผลกระทบทางบัญชีที่เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าวจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและสถานการณ์เฉพาะของแต่ละกิจการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่กระจายที่ไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตาม การรายงานทางการเงินที่จะมีผลกระทบทางบัญชีที่เป็นสาระสำคัญต่อการลดลงของมูลค่าของสินทรัพย์ของกิจการ อาจมีเรื่องดังต่อไปนี้

  • การด้อยค่าของค่าความนิยม กิจการต้องนำผลกระทบของสถานการณ์ COVID-19 ไปทดสอบการด้อยค่าของค่าความนิยม โดยนำสถานการณ์ COVID-19 มาเป็นปัจจัยในการพยากรณ์ทางการเงิน ผลการดำเนินงานทางการเงินรวมถึงประมาณการกระแสเงินสดในอนาคตซึ่งอาจได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากผลกระทบโดยตรงหรือโดยอ้อมของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากเหตุการณ์เกิดขึ้นหรือสถานการณ์เปลี่ยนไปมีแนวโน้มค่อนข้างเป็นไปได้ (More Likely Than Not) ที่ทำให้มูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืนของหน่วยสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดกระแสเงินสดต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชี
  • การด้อยค่าของสินทรัพย์ถาวร กิจการต้องประเมินว่าสินทรัพย์ถาวรที่มีอายุการใช้งานระยะยาวหรือกลุ่มของสินทรัพย์มีข้อบ่งชี้การด้อยค่าหรือไม่ เมื่อมีเหตุการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์บ่งชี้ว่ามูลค่าตามบัญชีอาจมีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืนของสินทรัพย์ (Recoverable Value)เมื่อทำการประเมินนี้กิจการควรพิจารณารวมถึงการลดลงอย่างมีนัยสำคัญในราคาตลาดของสินทรัพย์ที่มีอายุการใช้งานระยะยาว การเปลี่ยนแปลงลักษณะการใช้งานในระดับนัยสำคัญของสินทรัพย์
  • การประเมินค่าและการด้อยค่าของลูกหนี้ เงินให้กู้ยืมและเงินลงทุน เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในตลาดการเงินตกต่ำในหลายพื้นที่ กิจการควรพิจารณาถึงผลกระทบของความผันผวนอย่างมีนัยสำคัญในมูลค่าการลงทุนและประเมินการด้อยค่า การลงทุนที่อาจได้รับผลกระทบ ได้แก่ ตราสารทุนและตราสารหนี้ที่ออกโดยกิจการที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและอาจรวมถึงการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ นอกจากนี้เหตุการณ์ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอาจทำให้เกิดความผันผวนเพิ่มเติมในตลาดโลกซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่ายุติธรรมของการลงทุนที่ไม่ได้เชื่อมโยงโดยตรงกับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ (เช่น การกระจายเครดิตอาจเพิ่มขึ้นหรือความน่าเชื่อถือของคู่สัญญาอาจได้รับผลกระทบ) การเลือกรูปแบบการด้อยค่าที่เกี่ยวข้องของกิจการรวมถึงข้อควรพิจารณาในการประเมินมูลค่าลูกหนี้ ลูกหนี้เงินให้กู้ยืม และการลงทุนขึ้นอยู่กับการจัดประเภทของตราสารตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เครื่องมือทางการเงิน


สัญญาเช่าระยะยาว
            ผลกระทบสถานการณ์ COVID-19 อาจทำให้ผู้ให้เช่าและผู้เช่าอาจตัดสินใจปรับเปลี่ยนเงื่อนไขของสัญญาเช่า ในสถานการณ์เช่นนี้ผู้เช่าและผู้ให้เช่าควรพิจารณาว่าการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขสัญญาเช่านี้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของข้อกำหนดและเงื่อนไขดั้งเดิมของสัญญาเช่าหรือไม่ ตัวอย่างเช่น การเพิ่ม ลด ขยายหรือยกเลิกสิทธิในการใช้สินทรัพย์ สัญญาเช่าที่ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขเป็นการแยกต่างหากจากสัญญาเช่าเดิมหรือเป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญาเช่าที่มีอยู่เดิม

รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า
            ภายใต้มาตรฐาน TFRS 15 รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้าการวัดค่าตอบแทนเป็นรายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า โดยทั่วไปเงื่อนไขค่าตอบแทนเป็นรายได้นั้นมีค่าตอบแทนคงที่ ค่าตอบแทนผันแปร หรือมีทั้งสองแบบ ในกรณีสัญญาค่าตอบแทนที่เป็นรายได้ผันแปร (Variable Consideration) กิจการต้องประมาณการค่าตอบแทนผันแปรและรับรู้เป็นรายได้ตลอดอายุของสัญญาค่าตอบแทนผันแปรนั้นเป็นส่วนลดการคืนเงินเมื่อยอดซื้อถึงเป้าการให้คะแนนสะสมการซื้อ การลดราคา หรือโบนัสเพื่อเป็นแรงจูงใจการตัดสิทธิ์ หรือรายการอื่นที่คล้ายคลึงกัน ค่าตอบแทนผันแปรที่รับรู้เป็นรายได้อาจแตกต่างจากที่ประมาณการไว้หากสิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนตามสัญญาของกิจการนั้นขึ้นอยู่กับความไม่แน่นอนของการเกิดขึ้น หรือการไม่เกิดขึ้นของเหตุการณ์ในอนาคต ดังนั้น ค่าตอบแทนผันแปรที่รับรู้เป็นรายได้ตามสัญญานั้น กิจการต้องพิจารณาความเป็นไปได้ของประมาณการรายได้ที่มาจากค่าตอบแทนผันแปรที่รับรู้สะสมอยู่ในรายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้าจะไม่ถูกกลับรายการอย่างมีนัยสำคัญเมื่อความไม่แน่นอนที่เกี่ยวข้องกับค่าตอบแทนผันแปรได้สิ้นสุดลงภายหลัง
            ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน กิจการควรมีการพิจารณาการประเมินประมาณการค่าตอบแทนผันแปรผลตอบแทนรับรู้เป็นรายได้ให้เป็นปัจจุบันเพื่อให้การรายงานทางการเงินของงบการเงิน ณ วันสิ้นงวดมีความโปร่งใสและสอดคล้องกับสถานการณ์ระหว่างกาลที่ได้เปลี่ยนแปลงไป กิจการอาจจำเป็นต้องพิจารณาผลกระทบของสถานการณ์ COVID-19 ที่อาจมีต่อค่าตอบแทนผันแปร ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน

การตรวจสอบบัญชีและการรายงานบัญชี

การดำเนินงานต่อเนื่อง
            ผลที่ตามมาของสถานการณ์ COVID-19 อาจส่งผลกระทบความสามารถในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของกิจการที่มาจากความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหลายด้าน เช่น พื้นฐานและแนวโน้มอุตสาหกรรมที่จะเป็น ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของกิจการ ความเข้มแข็งมั่นคงทางการเงินของลูกค้า และห่วงโซ่อุปทานของกิจการ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเงินทุนสำรองที่มีอยู่ของกิจการ ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้อาจทำให้ผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงินของกิจการลดลง ดังนั้นผู้บริหารและหน่วยงานที่รับผิดชอบอาจต้องพิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวกับการประเมินการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ
            ผู้สอบบัญชีมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานการตรวจสอบและแสดงความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของกิจการนั้นตามที่ได้กำหนดอยู่ในมาตรฐานการสอบบัญชีที่รับรองทั่วไปและเปิดเผยประเด็นหรือปัญหาเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของกิจการ
            ระยะเวลาที่ผู้สอบบัญชีที่ต้องพิจารณาที่เกี่ยวกับการประเมินความสามารถการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของกิจการนั้นเป็นระยะเวลาที่กำหนดอยู่ในกรอบการรายงานทางการเงินหรือหากในกรณีไม่มีข้อกำหนดดังกล่าว โดยทั่วไปจะอยู่ภายในระยะเวลาหนึ่งปีหลังจากวันที่มีการออกงบการเงิน หรือภายในระยะหนึ่งปีหลังจากวันที่งบการเงินพร้อมที่จะออ

การเน้นข้อมูลในรายงานผู้สอบบัญชี (Emphasis of Matter)

            หากผู้สอบบัญชีปฏิบัติงานตรวจสอบตามมาตรฐานการสอบบัญชี และได้รับหลักฐานการสอบบัญชีที่เพียงพอและเหมาะสมจากผลกระทบต่องบการเงินของสถานการณ์ COVID-19 และหากผู้สอบบัญชีเห็นว่าเหตุการณ์การแพร่กระจายของสถานการณ์COVID-19 มีผลกระทบต่องบการเงินของกิจการอย่างสาระสำคัญและมีความเหมาะสมที่จะแสดงเป็นวรรคเน้นข้อมูล (EOM) ในรายงานของผู้สอบบัญชีเพื่อให้ผู้อ่านงบการเงินได้รับประโยชน์จากการใช้งบการเงิน รวมทั้งทราบถึงเหตุการณ์ที่มีสาระสำคัญที่อาจมีผลกระทบต่องบการเงินตามที่ได้กำหนดในมาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 706(ปรับปรุง) วรรคเน้นข้อมูลและเหตุการณ์และวรรคเรื่องอื่นในรายงานของผู้สอบบัญชี และเปิดเผยรายละเอียดข้อมูลในหมายเหตุประกอบงบการเงิน

แหล่งอ้างอิง :

    1. Consequences of Covid - 19 Financial Reporting Considerations Center for plain English Accounting , AICPA’s National A&A Resource Center
    2. Financial Reporting Alert 20-1 March 5, 2020 Deloitte Accounting Research Tool
    3. IFRS republicatio

โดย..นายสันติ พงค์เจริญพิทย์
กรรมการ ในคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีด้านการสอบบัญชี




โพสต์เมื่อ :
7 พ.ค. 2563 10:12:32
 20066
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์