หลักการของการบัญชีบริหาร (Management Accounting Principles)

หลักการของการบัญชีบริหาร (Management Accounting Principles)

            การกล่าวถึงเรื่องการบัญชีบริหารบางท่านอาจนึกถึงเรื่องของการบัญชีต้นทุนแท้ที่จริงแล้วการบัญชีบริหารและการบัญชีต้นทุนนั้นมีความเกี่ยวข้องกันแต่ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน โดยการบัญชีต้นทุนนั้นจะเป็นส่วนหนึ่งของการบัญชีบริหาร เนื่องมาจากการบัญชีต้นทุนนั้นจะให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนขององค์กร ซึ่งข้อมูลต้นทุนนี้เป็นสารสนเทศที่สำคัญที่ใช้ในกระบวนการบริหารจัดการไม่ว่าจะเป็นการวางแผน การจัดสรรทรัพยากร การกำกับการดำเนินการ รวมถึงการติดตามและประเมินผล ดังนั้นจึงมีคำถามต่อไปว่าแล้วตกลงการบัญชีบริหารคืออะไรและมีหลักการอย่างไร ซึ่งแท้จริงแล้วการบัญชีบริหารนั้นมีขอบเขตกว้างขวางมาก ผู้คนที่อยู่ในองค์กรมีการใช้การบัญชีบริหารมาแล้วเกือบทุกคนแต่ยังอาจไม่ทราบว่าสิ่งที่เราปฏิบัติอยู่นั้นคือการบัญชีบริหาร ยกตัวอย่างเช่น พนักงานฝ่ายขนส่งได้ปฎิบัติงานขนสินค้าให้กับลูกค้าโดยอาศัยระบบการกำหนดเส้นทางเพื่อให้เกิดความรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำ โดยระบบดังกล่าวได้มีการคำนวณและจัดทำรายงานวิเคราะห์เส้นทางมาให้แก่พนักงาน เพื่อใช้เป็นตารางเส้นทางและเวลาการขนส่ง กรณี ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าพนักงานขนส่งดังกล่าว กำลังใช้การบัญชีบริหาร ช่วยในการวางแผนและตัดสินใจเกี่ยวกับเส้นทางและเวลาที่จะใช้ในการปฏิบัติงานขนส่งสินค้าดังกล่าว
            การที่การบัญชีบริหารมีขอบเขตกว้างมากจนผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งรวมถึงผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับทางด้านการบัญชีบริหารและผู้ที่ใช้บัญชีบริหารเกิดความไม่แน่ใจว่าการดำเนินการเกี่ยวกับการบัญชีบริหารควรเป็นอย่างไรที่เหมาะสมกับองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในปัจจุบันทาง Association of International Certified Professional Accountants (AICPA) ร่วมกับChartered Institute of ManagementAccountants (CIMA) จึงได้ออกหลักการของการบัญชีบริหารเพื่อเป็นหลักการที่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิผล โดยหลักการดังกล่าวได้มาจากการสะท้อนมุมมองของผู้บริหารระดับสูงขององค์กร นักการศึกษา ผู้กำกับดูแล หน่วยงานรัฐบาล รวมถึงผู้ประกอบวิชาชีพต่าง ๆ มากกว่า 20 ประเทศ ครอบคลุม 5 ทวีป

4 หลักการการบัญชีบริหาร

การสื่อสาร
สารสนเทศ
ารวิเคราะห์
การสร้างความเชื่อมั่น

            Chartered Institute of Management Accountants (2014) รายงานว่า วัตถุประสงค์ของหลักการของบัญชีบริหาร คือ เพื่อปรับปรุงการตัดสินใจในองค์กรผ่านสารสนเทศที่มีคุณภาพสูง โดยการบัญชีบริหารนั้น ประกอบด้วย 4 หลักการ ซึ่งจะทำให้เกิดคุณค่าแก่องค์กร คือ


  1. การสื่อสารที่ให้ข้อมูลอย่างลึกซึ้งที่มีอิทธิพลอย่างทรงพลัง (Communication provides insight that is influential)
  2. สารสนเทศที่มีความเกี่ยวข้องและตรงประเด็น (Information is relevant)
  3. การวิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อคุณค่า (Impact on value is analyzed)
  4. การสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริหารต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stewardship builds trust)

ภาพหลักการของการบัญชีบริหาร

ที่มา : https://www.cgma.org/resources/reports/globalmanagementaccountingprinciples.html

ภาพแสดงเนื้อหาของหลักการของการบัญชีบริหาร

ที่มา : Chartered Institute of Management Accountants (2014)

            ในบทความนี้ ขอกล่าวขยายความในแต่ละหลักการโดยย่อซึ่งผู้อ่านที่สนใจสามารถสืบค้นหาอ่านเพิ่มเติมตามอ้างอิงที่ให้ไว้ได้หลักการที่หนึ่ง การสื่อสารที่ให้ข้อมูลอย่างลึกซึ้งที่มีอิทธิพลอย่างทรงพลัง (Communication provides insight that is influential) คือ ในความเป็นจริงแล้วการบัญชีบริหารนั้นจะเริ่มและจบลงด้วยการสื่อสาร หลักการนี้ช่วยให้องค์การเกิดความคิดแบบบูรณาการ ยกเลิกความคิดแบบแบ่งส่วนงาน ทำให้เกิดการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น โดยในหลักการนี้ได้กล่าวไว้ว่า การพัฒนาและการดำเนินกลยุทธ์นั้นคือการสื่อสาร การสื่อสารนั้นต้องมีการปรับแต่งเพื่อให้สามารถสนับสนุนการตัดสินใจขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับหลักการที่สอง สารสนเทศที่มีความเกี่ยวข้องและตรงประเด็น (Information is relevant) คือ การบัญชีบริหารสร้างสารสนเทศที่เกี่ยวข้องและตรงประเด็นที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจเมื่อองค์กรต้องการ โดยหลักการนี้ได้นำเสนอเกี่ยวกับสารสนเทศทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต รวมถึงสารสนเทศทั้งที่เป็นด้านการเงินและไม่เป็นด้านการเงินจากทั้งภายในและภายนอกองค์กร เช่น ข้อมูลจากสังคมในหลักการที่สองนี้ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สารสนเทศเป็นสิ่งที่มีมากที่สุดจึงควรมีสารเทศที่ไว้วางได้และเข้าถึงได้และตรงกับสภาพหรือสถานการณ์ที่จะต้องใช้ หลักการที่สาม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจการวิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อคุณค่า (Impact on value is analyzed) คือ การบัญชีบริหารเชื่อมโยงกลยุทธ์ขององค์กรกับรูปแบบทางธุรกิจ (Business model) หลักการนี้ช่วยให้องค์กรจำลองสถานการณ์ที่หลากหลาย (Different scenarios) เพื่อให้สามารถเข้าใจถึงผลกระทบของการสร้างและคงไว้ซึ่งคุณค่าขององค์กร หลักการสุดท้าย การสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริหารต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stewardship builds trust) คือ ความรอบครอบและความรับผิดชอบในกระบวนการตัดสินใจอย่างเที่ยงธรรม ความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ระยะสั้นกับคุณค่าในระยะยาวของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะช่วยสนันสนุนให้เกิดความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ โดยในหลักการสุดท้ายนี้ ได้กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับความยั่งยืน (Sustainability) รวมถึงความซื่อสัตย์และจรรยาบรรณด้วย (Integrity and ethics) โดยหลักการทั้งหมดดังกล่าวนี้มีไว้เพื่อให้เป็นหลักการที่สามารถใช้ได้ทั่วไปเพื่อช่วยให้องค์กรไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็กขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ สามารถดึงคุณค่าขององค์กรผ่านการเพิ่มขึ้นของระบบสารสนเทศที่มีอยู่

References
Chartered Institute of Management Accountants. (2014). GlobalManagement Accounting Principles: Effective management
accounting: Improving decisions and building successfulorganisations. from Chartered Institute of Management Accountants
https://www.cgma.org/content/dam/cgma/resources/reports/downloadabledocuments/global-management-accounting-principles.pdf

Chartered Institute of Management Accountants. (2014). GlobalManagement Accounting Principles. Retrieved on 7 January 2019
from https://www.cgma.org/resources/reports/globalmanagementaccountingprinciples.html

โดย..ดร.ธีรชัย อรุณเรืองศิริเลิศ
PhD, CPA
กรรมการและประธานคณะอนุกรรมการ
ด้านการพัฒนาวิชาชีพบัญชี


โพสต์เมื่อ :
18 พ.ค. 2563 11:10:46
 36482
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์