จรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี

จรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี

            หลังจากที่ห่างหายมาช่วงระยะเวลาหนึ่งในการนำเสนอตัวอย่างการประพฤติผิดจรรยาบรรณ อันเป็นเหตุให้ต้องได้รับโทษ ก่อนอื่นในนามของคณะกรรมการจรรยาบรรณ ขอขอบคุณท่านสมาชิกทุกท่าน ที่ได้สนใจและติดตามเกี่ยวกับตัวอย่างที่คณะกรรมการจรรยาบรรณได้เผยแพร่ไว้กันอย่างล้นหลาม ไม่ว่าจะเป็นการกดไลค์ใน Facebook หรือติดตามทั้งในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

            เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา TFAC Newsletter ฉบับนี้ ยังคงมีตัวอย่าง ข้อบกพร่องในการปฏิบัติงานที่ไม่เป็นไปตามจรรยาบรรณและหรือมาตรฐานทางวิชาชีพ อันนำไปสู่การวินิจฉัยและตัดสินโทษการประพฤติผิดจรรยาบรรณของ ผู้ทำบัญชี/ผู้สอบบัญชี ให้ท่านสมาชิก ได้รับทราบ ดังนี้

ด้านผู้ทำบัญชี
ตัวอย่างที่ 1
            ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี/ผู้รับบริการ/กิจการ (ผู้ว่าจ้าง) ได้ยื่นเรื่องร้องเรียน โดยกล่าวหาผู้ทำบัญชีว่า ละทิ้งงานที่ได้รับจ้างโดยไม่มีเหตุอันควรทำให้ผู้ว่าจ้างเสียชื่อเสียงและเสียหายในการดำเนินการติดต่อทางราชการห้างร้าน และอื่น ๆ
            นอกจากประเด็นการละทิ้งงานแล้ว ยังมีประเด็นเรื่องงานบริการที่ผู้ทำบัญชีได้เสนอต่อผู้ว่าจ้าง หรือผู้รับบริการ ตามขอบเขตความรับผิดชอบหรือสัญญา/ข้อตกลงในการรับงาน แต่กลับไม่ดำเนินการตามขอบเขตงานหรือสัญญา/ข้อตกลงการให้บริการนั้น ๆ จนเสร็จสิ้น เช่น ผู้ว่าจ้างได้ชำระค่าบริการทำบัญชีให้ผู้ทำบัญชีเป็นประจำทุกเดือน แต่ผู้ทำบัญชีไม่ดำเนินการจัดทำบัญชีให้จนแล้วเสร็จตามสัญญา/ข้อตกลงในการให้บริการนั้น หรือประเด็นเรื่องการชำระภาษี โดยผู้ว่าจ้างได้นำเงินค่าภาษีส่งให้ผู้ทำบัญชีเพื่อให้นำไปชำระค่าภาษีแทนตน แต่ผู้ทำบัญชีไม่นำเงินที่ได้รับนั้นไปชำระภาษี จนกระทั่งผู้ว่าจ้างถูกหน่วยงานรัฐแจ้งข้อกล่าวหา หรือเรียกชำระค่าภาษี เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม เป็นต้น

การวินิจฉัย ปรากฎข้อบกพร่องดังนี้
            การละทิ้งงานโดยไม่จัดทำบัญชีและงบการเงินตามที่ตกลงไว้กับผู้ว่าจ้างจนแล้วเสร็จ หรือการไม่นำเงินที่ได้รับจากผู้ว่าจ้างไปชำระภาษีภายในระยะเวลาที่กำหนด ทำให้ผู้ว่าจ้างเสียชื่อเสียงและต้องเสียค่าปรับกรณีการส่งงบการเงินล่าช้า หรือต้องเสียภาษีย้อนหลัง พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มกรณีที่ไม่ยื่นภาษีภายในระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ผู้ว่าจ้างยังต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการว่าจ้างผู้ทำบัญชีรายใหม่ให้จัดทำบัญชีงบการเงิน และยื่นภาษีย้อนหลัง (กรณีผู้ทำบัญชีรายเดิมไม่นำเงินไปชำระภาษี) ฯลฯ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงการขาดความรับผิดชอบขาดความเอาใจใส่ ของผู้ทำบัญชี โดยไม่ใส่ใจงานที่รับทำไว้ต่อผู้ว่าจ้าง/ ผู้รับบริการ ตลอดจนเป็นการกระทำ ที่ขาดความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ประพฤติตนอย่างตรงไปตรง จริงใจ และซื่อตรงต่อวิชาชีพ

ด้านผู้สอบบัญชี
ตัวอย่างที่ 2
            หน่วยงานรัฐแจ้งผลการตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชี ในกรณีที่ตรวจพบว่า

  1. การจัดทำแผนการสอบบัญชีมีรูปแบบมาตรฐานเหมือนกันทุกประเภทกิจการและทุกรายนิติบุคคล และกำหนดวิธีการตรวจสอบเหมือนกันทุกประเภทกิจการ ทั้งที่นิติบุคคลประกอบธุรกิจแตกต่างกัน
  2. การจัดทำแผนงานสอบบัญชีไม่มีขอบเขตของการตรวจสอบไม่มีหัวข้อความเข้าใจในระบบบัญชี ระบบควบคุมภายใน และนโยบายการบัญชี ไม่มีหัวข้อการประเมินความเสี่ยงในการสอบบัญชีและการกำหนดระดับความมีนัยสำคัญประกอบกับข้อมูลที่บันทึกในแผนการสอบบัญชีไม่ได้แสดงให้เห็นว่าผู้สอบบัญชีมีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจอย่างมีความเข้าใจในเหตุการณ์รายการบัญชีและวิธีปฏิบัติงานของกิจการและสามารถประเมินความเสี่ยงได้
  3. แนวการสอบบัญชีไม่มีการกำหนดขนาดตัวอย่าง ระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจสอบ
  4. การจัดทำกระดาษทำการ ผู้สอบบัญชีได้จัดทำกระดาษทำการหลักซึ่งบันทึกผลการตรวจสอบโดยแสดงยอดคงเหลือ ณ วันสิ้นงวดตามบัญชีแยกประเภท แต่ไม่ปรากฏเครื่องหมายแสดงการตรวจสอบใด ๆ มีเพียงการอ้างอิงไปยังกระดาษทำการที่เกี่ยวข้อง และไม่มีการสรุปผลการตรวจสอบเพื่อเป็นเกณฑ์ในการแสดงความเห็น โดยการตรวจสอบที่ปรากฏในกระดาษทำการอ้างอิงไม่สามารถตรวจสอบเพื่อให้ได้มาซึ่งหลักฐานการสอบบัญชีที่เหมาะสมอย่างเพียงพอ


การวินิจฉัย ปรากฎข้อบกพร่องดังนี้
            กระดาษทำการแผนงานสอบบัญชีขาดความครบถ้วนในรายละเอียดและวิธีการตรวจสอบ เช่น ขอบเขตของการตรวจสอบ และไม่พบหัวข้อเกี่ยวกับความเข้าใจในระบบบัญชีและระบบควบคุมภายใน นโยบายการบัญชี ไม่มีการประเมินความเสี่ยงในการสอบบัญชี และไม่ได้กำหนดระดับความมีสาระสำคัญ
            กระดาษทำการแนวการสอบบัญชีมีการกำหนดวัตถุประสงค์และวิธีการตรวจสอบ แต่ไม่มีการกำหนดขนาดตัวอย่าง ช่วงเวลาที่จะทำการตรวจสอบ และไม่มีรหัสอ้างอิงกระดาษทำการที่เกี่ยวข้อง
            กระดาษทำการหลักได้บันทึกผลการตรวจสอบโดยแสดงยอดคงเหลือ ณ วันสิ้นงวดตามบัญชีแยกประเภทแต่ไม่ปรากฏเครื่องหมายแสดงการตรวจสอบใด ๆ มีเพียงการอ้างอิงไปยังกระดาษทำการที่เกี่ยวข้อง และไม่มีการสรุปผลการตรวจสอบเพื่อเป็นเกณฑ์ในการแสดงความเห็น เช่น(1) การตรวจสอบเงินเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน ไม่พบว่ามีการส่งหนังสือยืนยันยอดกับสถาบันการเงิน ไม่พบว่ามีการตรวจสอบสัญญาเงินเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ยืมระยะสั้น ซึ่งอาจทำให้การตรวจสอบสิทธิและภาระผูกพันขาดความครบถ้วน (2) การตรวจสอบเจ้าหนี้การค้า หรือเงินกู้ยืมระยะสั้น ไม่พบกระดาษทำการตรวจตัดยอดซื้อ การจ่ายชำระเจ้าหนี้หลังสิ้นปี (3) การตรวจสอบเงินกู้ยืมระยะสั้น ไม่พบการตรวจสอบการรับ-จ่ายเงินการส่งหนังสือยืนยันยอด และ (4) ไม่พบกระดาษทำการเกี่ยวกับการประเมินความเหมาะสมในการนำเกณฑ์การจัดทำงบการเงินตามหลักการดำเนินงานต่อเนื่องของกิจการ และการพิจารณาความเพียงพอเหมาะสมในการเปิดเผยข้อมูลในหมายเหตุประกอบงบการเงิน รวมถึงการเพิ่มวรรคเน้นหรือเหตุการณ์สำคัญในรายงานของผู้สอบบัญชี เป็นต้น
            ผู้สอบบัญชีได้เสนอรายงานแบบไม่มีเงื่อนไขแต่จากการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการ/คณะกรรมการจรรยาบรรณพบข้อบ่งชี้เกี่ยวกับความไม่แน่นอนถึงความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องของกิจการ แต่ไม่พบกระดาษทำการที่พิจารณาในเรื่องดังกล่าวเพื่อสรุปว่า เหตุใดจึงเสนอรายงานแบบไม่มีเงื่อนไข
            ทั้งสองตัวอย่างที่กล่าวมานี้ เป็นตัวอย่างที่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ 19) เรื่อง จรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นคำกล่าวหาและเหตุการณ์การกระทำผิดที่เกิดขึ้นก่อนที่ข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี ว่าด้วยจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2561 ได้มีประกาศบังคับใช้ อันเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547

ข้อควรทราบเกี่ยวกับจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี
            ข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี ว่าด้วยจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2561 ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561
            ตามข้อ 2 ข้อ 3 และบทเฉพาะกาลตามข้อ 18 และข้อ 19 ของข้อบังคับดังกล่าวได้กำหนดไว้ ดังนี้

            ข้อ 2 ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับนับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
            ข้อ 3 ให้ยกเลิกข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ 19) เรื่อง จรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2553
            ข้อ 18 ให้บรรดาคดีจรรยาบรรณซึ่งอยู่ในระหว่างการสอบสวน หรืออยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการจรรยาบรรณ หรือคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี และคดียังไม่ถึงที่สุด ยังคงใช้ข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ 19) เรื่อง จรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2553 บังคับสำหรับคดีดังกล่าวต่อไป เว้นแต่บทบัญญัติตามข้อบังคับนี้เป็นคุณแก่ผู้ถูกกล่าวหาให้ใช้ข้อบังคับนี้บังคับ”
            ข้อ 19 ให้ข้อกำหนดสภาวิชาชีพบัญชี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การรายงานและการพิจารณาการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต พ.ศ. 2556 ซึ่งออกตามข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี (ฉบับที่ 19) เรื่อง จรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2553 มีผลบังคับใช้ต่อไป จนกว่าจะมีข้อบังคับ ข้อกำหนด ระเบียบ ประกาศ ในเรื่องเดียวกันออกใช้บังคับ


โดย คณะกรรมการจรรยาบรรณ


โพสต์เมื่อ :
2 พ.ย. 2563 13:35:02
 24230
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์