รูปแบบใหม่ในการปรับปรุงมาตรฐานการรายงานทางการเงิน

รูปแบบใหม่ในการปรับปรุงมาตรฐานการรายงานทางการเงิน

          ปี 2020 ใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว ซึ่งเป็นสัญญาณบอกให้เรารู้ว่า “ฤดูงบ” ของเราก็ใกล้ขึ้นมาด้วยเช่นกัน วันนี้ผมจึงอยากจะเชิญชวนทุกท่านมาอัพเดตถึงความคืบหน้าของมาตรฐานการรายงานทางการเงินรวมถึงอยากจะมาเล่าถึงรูปแบบของมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อสมาชิกจะได้ลดโอกาสข้อผิดพลาดในการใช้งานที่อาจจะเกิดขึ้น (อยากให้ทุกท่านได้ลองอ่านกันดูนะครับ ว่าทำไมและเพราะอะไรเราต้องเปลี่ยนครับ)

          ส่วนแรก: ฝ่ายวิชาการขอมาเล่าให้ฟังถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินทั้ง 2 ระดับ คือ มาตรฐานการรายงานทางการเงิน (TFRS) ที่จะใช้สำหรับการจัดทำงบการเงินของปี 2564 และมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (TFRS for NPAEs) ที่จะใช้สำหรับการจัดทำงบการเงินของปี 2563

สิ่งที่ต้องรู้สำหรับ TFRS (สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2564)

  • แปลมาจาก IFRS (Bound volume 2020)
  • Bound volume นี้มีการแก้ไข/การปรับปรุงทั้งหมด 4 เรื่อง รวม 17 ฉบับ ได้แก่
การแก้ไข/การปรับปรุง มาตรฐานฯ ที่ได้รับผลกระทบ
   การปรับปรุงการอ้างอิงกรอบแนวคิดในมาตรฐานการรายงานทางการเงิน    TAS 1, TAS 8, TAS 34, TAS 37, TAS 38, TFRS 2, TFRS 3, TFRS 6, TFRIC 12, TFRIC 19, TFRIC 20, TFRIC 22, TSIC 32
   คำนิยามของธุรกิจ    TFRS 3
   คำนิยามของความมีสาระสำคัญ    TAS 1, TAS 8, TAS 10, TAS 34, TAS 37
   การปฏิรูปอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง    TFRS 7, TFRS 9, แนวปฏิบัติประกันฯ

  • มี “กรอบแนวคิดสำหรับการรายงานทางการเงิน” ใหม่มาใช้แทนฉบับเดิม และได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
  • ฉบับที่มีการแก้ไข/การปรับปรุงทั้งหมดได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว
ดูข้อมูลเพิ่มเติม (ฉบับปรับปรุง 2563) ได้ที่เว็บไซต์สภาวิชาชีพบัญชี ตามลิงก์ >> https://www.tfac.or.th/Article/Detail/119612

Did You Know?
  1. Bound volume 2020 มีความหมายอะไรกับเรา?
    ตอบ 2020 = พ.ศ. 2563 ดังนั้นจึงบอกให้เรารู้ว่ามาตรฐานฯ นี้ จะนำมาใช้สำหรับงบการเงินของรอบระยะเวลาบัญชี 2564

  2. กรอบแนวคิดสำหรับการรายงานทางการเงินฉบับเดิมคือฉบับไหนนะ?
    ตอบ กรอบแนวคิดสำหรับการรายงานทางการเงิน (ปรับปรุง 2558)

  3. การปรับปรุง/การแก้ไขของมาตรฐานฯ ในแต่ละปี จะสามารถศึกษาหรือหาข้อมูลจากที่ใดได้บ้าง?
    ตอบ
    ปกติทาง IFRS จะมีการออกเอกสาร “Project Summary and Feedback Statement” ในแต่ละ Project เพื่อเผยแพร่ให้ได้ศึกษากันถึงการเปลี่ยนแปลง (สำหรับวิธีการเข้าดูได้ที่ด้านล่าง) หรือท่านสมาชิกสามารถเข้ามาศึกษาสรุปการเปลี่ยนแปลงของมาตรฐานฯ แต่ละฉบับได้ที่เว็บไซต์สภาวิชาชีพบัญชีในส่วนของมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับปรับปรุงปีนั้น ๆ


วิธีการเข้าไปค้นหาข้อมูล “Project Summary and Feedback Statement”

  1. เข้าเว็บไซต์ www.ifrs.org
  2. เข้าที่เมนู Projects >> Completed projects
  3. เลือก Project ที่สนใจ
  4. เลือกเมนู “Supporting material”



สิ่งที่ต้องรู้สำหรับ TFRS for NPAEs (สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2563)

  • ยังถือปฏิบัติตาม TFRS for NPAEs (ฉบับเดิมที่มีทั้งหมด 22 บท ซึ่งใช้มาตั้งแต่ 1 มกราคม 2554)
  • มีประกาศสภาวิชาชีพฉบับใหม่ เรื่องการวัดมูลที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ (เพิ่มวิธีการตีราคาใหม่) และการวัดมูลค่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน (เพิ่มวิธีมูลค่ายุติธรรม)

ดูรายละเอียด “ประกาศ” ได้ที่เว็บไซต์สภาวิชาชีพบัญชี ตามลิงก์ >> https://www.tfac.or.th/upload/9414/5YnH8XYCeS.PDF


สิ่งที่ต้องรู้สำหรับ TFRS for NPAEs
(สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2563)

Did You Know?

  1. ประกาศสภาวิชาชีพบัญชีนี้บังคับให้ทุกกิจการต้องทำหรือไม่?
    ตอบ
    ไม่บังคับให้ทำ เป็นเพียงทางเลือกเท่านั้น หากกิจการประสงค์จะวัดมูลค่าด้วยราคาทุนก็ยังสามารถทำได้

  2. เรียนจบมาหลายปีแล้ว จำไม่ได้ว่าวีธีการตีราคาใหม่ (สำหรับ PPE) หรือวิธีวัดมูลค่ายุติธรรม (สำหรับ IP) จะหาตัวอย่างได้จากที่ไหน อย่างไร?
    ตอบ
    ท่านสามารถดาวน์โหลดตัวอย่างประกอบความเข้าใจได้ที่เว็บไซต์สภาวิชาชีพบัญชี ตามลิงก์ >> https://bit.ly/3mlJXLe


            ส่วนสอง: นอกจากสิ่งที่ต้องรู้สำหรับมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ในแต่ละระดับข้างต้นแล้ว ผมตั้งใจจะมาเล่าให้กับสมาชิกทุกท่านฟัง (โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ต้องใช้มาตรฐานการรายงานการเงิน (TFRS)) ถึงรูปแบบของ TFRS ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพื่อที่ว่าเวลานำมาตรฐานฯ ไปใช้จะได้มีความเข้าใจเพิ่มมากขึ้นครับ

ที่มาที่ไปของการแก้ไข
            เพื่อให้ทุกคนได้ทราบว่าทำไมเราต้องเปลี่ยนรูปแบบของ TFRS ผมจึงขอเริ่มจากที่มาที่ไปของการแก้ไขกันก่อนนะครับหลายท่านคงทราบกันดีว่าปกติแล้วในแต่ละปีจะมีมาตรฐานฯเพียงไม่กี่ฉบับที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากมีการแก้ไข/การปรับปรุง


แล้วทำไมสภาวิชาชีพบัญชียังคงต้องนำมาตรฐานฯ ทุกฉบับประกาศลงราชกิจจานุเบกษาใหม่ (กลุ่มที่ 1 + กลุ่มที่ 2) ในทุก ๆ ปี รวมกันปีละประมาณ 60 ฉบับ

คำตอบ: หากคนที่ได้ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับมาตรฐานฯ จะทราบว่าในอดีตมาตรฐานฯ ทุกฉบับจะมีคำต่อท้ายว่า “(ฉบับปรับปรุง 25xx)” เพื่อบอกให้เรารู้อย่างชัดเจนว่ามาตรฐานฯ นี้แปลจากต่างประเทศ Bound volume ใด ทำให้สามารถนำไปใช้ได้ง่าย (เพราะเมื่อทราบ Bound volume เราก็จะรู้ว่าต้องนำไปใช้ปิดงบปีใด) และโอกาสในการใช้งานผิดพลาดก็จะมีน้อยรวมถึงมาตรฐานฯ แต่ละฉบับจะมีการอ้างอิงระหว่างกันไปมา นี่จึงเป็นสาเหตุที่สภาวิชาชีพบัญชีจึงต้องประกาศมาตรฐานฯ ใหม่ยกชุด (กลุ่มที่ 1 + กลุ่มที่ 2) ในทุก ๆ ปี

หมายเหตุ: กลุ่มที่ 2 เป็นการแก้ไขเพียงการเปลี่ยนแปลงเลข พ.ศ. ที่อยู่ในวงเล็บ “(ฉบับปรับปรุง 25xx)” เท่านั้น

ผลกระทบของการจัดทำในรูปแบบเดิม

  1. ผู้ใช้มาตรฐานฯ ที่ไม่รู้ถึงที่มาที่ไปมักเกิดความตื่นตระหนกว่ามาตรฐานฯ มีการปรับปรุงเป็นจำนวนมากในแต่ละปี (ซึ่งตามจริงปรับปรุงเฉพาะกลุ่มที่ 1 เท่านั้น)
  2. สิ้นเปลืองเวลาและทรัพยากร เพราะมาตรฐานฯ ทั้งหมดจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนการจัดทำมาตรฐาน (Due Process) เหมือนกัน (ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ 1 หรือกลุ่มที่ 2)

            ด้วยผลกระทบจากการจัดทำ TFRS ในรูปแบบเดิมข้างต้นสภาวิชาชีพบัญชีจึงทำการปรับปรุงรูปแบบของ TFRS เพื่อลดผลกระทบให้น้อยลง วันนี้ผมจึงขอสรุปให้กับสมาชิกทุกท่านได้ทราบกันครับ

เรื่องที่ 1 หน้า “คำแถลงการณ์”/ หน้า “คำนำ”

ความสำคัญ
ให้ข้อมูลกับผู้ใช้ 2 เรื่อง คือ มาตรฐานฯ ที่ถืออยู่นี้

  1. แปลจากต่างประเทศ Bound volume ใด ซึ่งผลก็คือจะทำให้เรารู้ว่า “ใช้สำหรับการปิดงบการเงินปีใด”
  2. มีการแก้ไข/การปรับปรุงจาก Bound volume ก่อนหน้าในย่อหน้าใดบ้าง (เพิ่ม/ปรับปรุง/ลบ) และเป็นการแก้ไขเนื่องจากอะไร

สิ่งที่เปลี่ยนแปลง

เดิม ใหม่
ชื่อเรียก “คำแถลงการณ์” ชื่อเรียก “คำนำ”
ถือเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานฯ ไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานฯ
แสดงประวัติการแก้ไข/การปรับปรุงจาก Bound volume ก่อนหน้าเพียง 1 ปีเท่านั้น แสดงประวัติการแก้ไข/การปรับปรุงจาก Bound volume ก่อนหน้า โดยเก็บประวัติตั้งแต่ Bound volume 2019เป็นต้นไป



เรื่องที่ 2 วันที่มีผลบังคับใช้ (Effective date)

ความสำคัญ
ให้ข้อมูลกับผู้ใช้ว่า “มาตรฐานฯ ที่ถืออยู่นี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อใด”

สิ่งที่เปลี่ยนแปลง

เดิม ใหม่
วันที่มีผลบังคับใช้จะมีการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ ปี ตามฉบับปรับปรุง Bound volume ของต่างประเทศแล้วบวกหนึ่งปี เช่น กรณี Bound volume 2020 วันที่มีผลบังคับใช้จะเป็น 1 มกราคม 2564 เป็นต้น วันที่มีผลบังคับใช้ คือ “วันที่ 1 มกราคม 2563” (ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามฉบับปรับปรุง Bound volume ของต่างประเทศอีกแล้ว)
Did You Know?
สาเหตุที่ต้องเป็นวันที่ 1 มกราคม 2563 เพราะปี 2563 เป็นปีแรกที่ประเทศไทยเราใช้มาตรฐานฯ ครบทุกฉบับตาม IFRS ทั้งหมด



เรื่องที่ 3 ประวัติการปรับปรุง TFRS ที่อยู่ในส่วนของ “วันถือปฏิบัติและการปฏิบัติในช่วงเปลี่ยนแปลง” (ท้ายมาตรฐานฯ)

ความสำคัญ
            ให้ข้อมูลกับผู้ใช้ว่ามาตรฐานฯ ที่ถืออยู่นี้มีประวัติการปรับปรุงในเรื่องใดบ้าง การปรับปรุงส่งผลให้เกิดการปรับปรุง/การเพิ่ม/การลบย่อหน้าใด วันที่มีผลบังคับใช้สำหรับการปรับปรุงดังกล่าวคือเมื่อไหร่ และการปฏิบัติในช่วงเปลี่ยนแปลงสำหรับการปรับปรุงนั้น ๆ จะให้ถือปฏิบัติอย่างไร

สิ่งที่เปลี่ยนแปลง

เดิม ใหม่
ย่อหน้าเหล่านี้จะแปลและอยู่ในมาตรฐานฯ เฉพาะปีที่มีผลบังคับใช้เท่านั้น หลังจากปีนั้น เราจะแปลย่อหน้าดังกล่าวว่า “ย่อหน้านี้ไม่เกี่ยวข้อง”
(ปัญหาคือผู้ใช้ที่จำเป็นต้องจัดทำงบการเงินย้อนหลังหรือต้องการศึกษา/ทราบประวัติของการปรับปรุง ต้องทำการค้นหาข้อมูลดังกล่าวด้วยตนเอง ด้วยวิธีการเปิดมาตรฐานฯ ฉบับปรับปรุงปีก่อน ๆ เอง)

ย่อหน้าเหล่านี้จะแปลและอยู่ในมาตรฐานฯ ตลอดไป เพื่อแสดงเป็นประวัติข้อมูลของการปรับปรุงมาตรฐานฯ ฉบับดังกล่าว

หมายเหตุ:
เราเริ่มเก็บประวัติการปรับปรุงตั้งแต่ Bound volume 2019 เป็นต้นไปครับ

           

            พวกผมหวังว่าการปรับปรุงรูปแบบ TFRS นี้จะช่วยให้ผู้ใช้มาตรฐานฯ รู้สึกตื่นตระหนกน้อยลง เพราะสภาวิชาชีพบัญชีจะประกาศมาตรฐานฯ ลงราชกิจจานุเบกษาเฉพาะกลุ่มที่ 1 (TFRS ที่มีการแก้ไข/การปรับปรุง) เท่านั้น อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรูปแบบ TFRS นี้ก็อาจก่อให้เกิดโอกาสผิดพลาดในการใช้มาตรฐานฯ ไม่ถูกต้องได้ (ใช้ผิดปี) ดังนั้นเพื่อลดปัญหาความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น ผมขอแนะนำให้ท่านตรวจสอบมาตรฐานฯ ที่จะนำไปถือปฏิบัติ ดังนี้

  1. ดาวน์โหลดมาตรฐานฯ ที่เว็บไซต์สภาวิชาชีพบัญชี (ในส่วนของมาตรฐานการรายงานทางการเงิน) โดยตรง ซึ่งทางเราจะแบ่งไว้เป็นปี ๆ เพื่อให้สะดวกกับการใช้งานและลดโอกาสผิดพลาด
  2. ตรวจสอบที่หน้า “คำนำ” ของมาตรฐานฯ ว่าเป็น Bound volume ใด

            ผมหวังว่าที่มาที่ไปของการแก้ไขรูปแบบ TFRS จะช่วยทำให้สมาชิกได้เข้าใจว่าเรามีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขรูปแบบใหม่ของมาตรฐานฯ เพื่อไม่ให้ทุกคนเกิดความตื่นตระหนกเหมือนครั้งก่อน ๆ รวมถึงเพื่อความรวดเร็วในการออกมาตรฐานฯ ให้รวดเร็วมากขึ้นครับ

โดย ฝ่ายวิชาการ
สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์

โพสต์เมื่อ :
7 ม.ค. 2564 14:05:50
 13363
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์