มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับปรับปรุงปี 2565 ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว

มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับปรับปรุงปี 2565 ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว


          สภาวิชาชีพบัญชี ขออัปเดตข่าวสารความคืบหน้าของมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับปรับปรุงปี 2565 ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศฉบับรวมเล่มปี 2565 (Bound Volume 2022 Consolidated without early application) โดยจะมีผลบังคับใช้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2566 โดยมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม ประกอบด้วย
1. มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 เรื่อง ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ เป็นการปรับปรุงไม่ให้กิจการนำสิ่งตอบแทนที่จะได้รับจากการขายสินค้าที่ผลิตได้ก่อนที่สินทรัพย์จะใช้ได้ตามประสงค์มาหักจากต้นทุนของที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ แต่กำหนดให้กิจการรรับรู้สิ่งตอบแทนที่ได้รับจากการขายรายการใด ๆ ดังกล่าวซึ่งผลิตในระหว่างการเตรียมความพร้อมของรายการที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์เพื่อให้อยู่ในสถานที่และสภาพที่พร้อมจะใช้งานได้ตามประสงค์ของผู้บริหาร และต้นทุนของรายการนั้นในกำไรหรือขาดทุน
2. มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 32 เรื่อง การแสดงรายการเครื่องมือทางการเงิน เป็นการตัดเรื่องการปฏิบัติในช่วงเปลี่ยนผ่านที่เคยเป็นทางเลือกสำหรับประเทศไทยออก
3. มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 37 เรื่อง ประมาณการหนี้สิน หนี้สินที่อาจเกิดขึ้น และสินทรัพย์ที่อาจเกิดขึ้น เป็นการระบุต้นทุนการทำให้เสร็จสิ้นตามสัญญาใดบ้างที่ต้องนำเข้ามารวมเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาว่าสัญญานั้นเป็นสัญญาที่สร้างภาระหรือไม่
4. มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 41 เรื่อง เกษตรกรรม ได้ตัดข้อกำหนดเรื่องการใช้กระแสเงินสดก่อนภาษีเมื่อวัดมูลค่ายุติธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดในเรื่องการวัดมูลค่ายุติธรรม
5. มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 1 เรื่อง การนำมาตรฐานการรายงานทางการเงินมาใช้เป็นครั้งแรก เป็นการให้ทางเลือกในการวัดมูลค่าส่วนต่างจากการแปลงค่าสะสมสำหรับหน่วยงานต่างประเทศในงบการเงินของบริษัทย่อย
6. มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 3 เรื่อง การรวมธุรกิจ เป็นการปรับปรุงการอ้างอิงกรอบแนวคิดให้เป็นฉบับปัจจุบัน โดยไม่มีผลกับเนื้อหาของ TFRS 3 และเพิ่มเนื้อหาการพิจารณาหนี้สินและหนี้สินที่อาจจะเกิดขึ้นที่รับมาจากการรวมธุรกิจ และระบุเพิ่มถึงสินทรัพย์ที่อาจเกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจว่า ไม่สามารถรับรู้ได้
7. มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 7 เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลเครื่องมือทางการเงิน เป็นการตัดเรื่องการปฏิบัติในช่วงเปลี่ยนผ่านที่เคยเป็นทางเลือกสำหรับประเทศไทยออก
8. มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน เป็นการปรับปรุงเรื่องการพิจารณาตัดรายการหนี้สินทางการเงินด้วยวิธีร้อยละ 10 ให้พิจารณาค่าธรรมเนียมจ่ายสุทธิจากค่าธรรมเนียมรับ โดยให้รวมเฉพาะค่าธรรมเนียมที่เกิดระหว่างผู้กู้ยืมและผู้ให้กู้ยืม รวมถึงค่าธรรมเนียมจ่ายหรือรับที่ออกให้ในนามของอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น และตัดเรื่องการปฏิบัติในช่วงเปลี่ยนผ่านที่เคยเป็นทางเลือกสำหรับประเทศไทยออก
นอกจากนี้ มาตรฐานการรายงานทางการเงินที่อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ ประกอบด้วย (1) ร่างมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 4 เรื่อง สัญญาประกันภัย และ (2) ร่างแนวปฏิบัติทางการบัญชี เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน และการเปิดเผยข้อมูลสำหรับธุรกิจประกันภัย
          ท่านสามารถศึกษาสรุปสาระสำคัญของการปรับปรุงมาตรฐานการรายงานทางการเงินดังกล่าวได้จากเว็บไซต์สภาวิชาชีพบัญชี Click
โพสต์เมื่อ :
28 ก.ย. 2565 14:44:46
 18502
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์