CFO's functions : การจัดหาเงิน Keep it Simple

CFO's functions : การจัดหาเงิน Keep it Simple


           อีกหนึ่งบทบาทของ CFO คือกิจกรรมการจัดหาเงินโดยทั่วไป เพื่อให้ได้เงินทุนในจำนวนที่ต้องการ ด้วยต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสม และมีเงื่อนไขที่รับได้และปฏิบัติตามได้ด้วยโครงสร้างเงินทุนที่เหมาะสม (Optimal capital structure) ณ จุดที่ทำให้กิจการมีต้นทุนทางการเงินถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก (Weighted Average Cost of Capital) ต่ำที่สุด หากกิจการที่ท่านดูแลมีผลการดำเนินงานเป็นที่ประจักษ์ มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเพียงพอ (และมีอนาคตที่ดี) และยังไม่มีการกู้ยืมหรือการกู้ยืมในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับกิจการในอุตสาหกรรมเดียวกัน และมีความประสงค์ในการขยายกิจการ การกู้ก็เป็นทางเลือกที่มีต้นทุนทางการเงินถูกที่สุด ทั้งในรูปแบบของการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน หรือการจัดหาเงินผ่านตลาดตราสารหนี้ โดยหลักการง่ายๆในทางปฏิบัติสำหรับการพิจารณาสัดส่วนหนี้และทุนที่เหมาะสม คือ ดูตามค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม และเงื่อนไขพันธสัญญาทางการเงิน ในส่วนของสัดส่วนอัตราดอกเบี้ยผันแปร และอัตราดอกเบี้ยคงที่ของบริษัทเราว่ามีความเหมาะสมแล้วหรือยัง คงไม่มีคำตอบตายตัว และขึ้นอยู่ลักษณะหรือแบบแผนของกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน นอกจากนี้ สัดส่วนอัตราดอกเบี้ยผันแปร และอัตราดอกเบี้ยคงที่ยังขึ้นอยู่กับของสภาวะตลาดของตลาดเงิน และตลาดตราสารหนี้ด้วย หรือในกรณีที่มีแนวโน้มการปรับเปลี่ยนทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างชัดเจน เช่น คาดการณ์ว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยลงในไม่ช้า ก็มีเหตุผลสนับสนุนในการจัดหาเงินในอัตราดอกเบี้ยผันแปร แทนที่จะพิจารณาอัตราดอกเบี้ยคงที่ตอนนี้ การตัดสินใจป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยโดยใช้ Interest Rate Swap ภายหลังการทำสัญญาเงินกู้ อาจไม่ใช่เรื่องที่ตัดสินใจได้ง่าย เพราะอาจถูกมองว่าเป็นการเสี่ยงโชคได้เช่นกัน อีกทั้งค่อนข้างยากมากที่จะสามารถผ่านเงื่อนไขของการบัญชีป้องกันความเสี่ยง (Hedge Accounting) ได้ ในส่วนของการป้องกันความเสี่ยงสำหรับเงินกู้สกุลต่างประเทศ หากป้องกันความเสี่ยงตามธรรมชาติ (Natural Hedge) ในเชิงกระแสเงินสดอยู่แล้ว ก็อาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตราสารอนุพันธ์เพิ่มเติม เว้นแต่ในกรณีที่สกุลเงินระหว่างกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน และกระแสเงินสดใช้ไปในการชำระดอกเบี้ยและจ่ายคืนเงินต้น ไม่สอดคล้องกัน ก็ควรพิจารณาในการป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว
           หากกิจการมีความจำเป็นต้องใช้ส่วนทุนในทันที โดยที่ไม่อยากกังวลเรื่อง dilution effect จากการออกหุ้นทุน และยินยอมที่จะจ่ายต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ หรือ Perpetual Debenture ก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการจัดหาเงินสำหรับกิจการของท่านได้ การออกกอง Real Estate Investment Trust (REIT) เป็นทางเลือกที่มีประโยชน์ต่อกิจการที่ต้องการโตอย่างก้าวกระโดด แม้ว่าจะมีต้นทุนทางการเงินที่ค่อนข้างสูงและใช้เวลาเตรียมตัวนาน สำหรับประเภทสินทรัพย์ที่ไม่สามารถทำกอง REIT ได้ เช่น คอนโดยูนิต ออฟฟิศสำนักงานที่มีผู้เช่ารายใหญ่เพียงผู้เดียว หรือกระแสเงินสดในอนาคตจากการสร้างภาพยนต์ Initial Coin Offering (ICO) ก็อาจเป็นทางเลือกในการระดมทุน
           สุดท้ายนี้ เรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับกิจกรรมการจัดหาเงิน คือ การมีวินัยทางการเงิน และความสัมพันธ์ที่ดีกับสถาบันการเงิน และหากไม่มีเหตุผลอันควรในการทำกิจกรรมการจัดหาเงินที่มีความสลับซับซ้อนจนไม่สามารถที่จะอธิบายให้เข้าใจได้ ก็กรุณาอย่าทำเลยครับ Keep it simple, Simple but not easy!!!
           ขอขอบคุณบทความดี ๆ จากคุณกันย์ ศรีสมพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน และ รองประธานฝ่ายการเงินและบริหารบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน)
           กรรมการในคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีด้านการบัญชีบริหารสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นบุคคลหนึ่งในคณะทำงานและวิทยากร ในหลักสูตร CFO : Chief Financial Officer Certification Program
           หลักสูตร CFO กำลังเปิดรับสมัครเป็นรุ่นที่ 25 เปิดเรียนวันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2567 นี้ จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจติดอาวุธพัฒนาทักษะ เตรียมพร้อมสู่การเป็น CFO มืออาชีพด้านการเงินและการบัญชี สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ https://accounttraining.tfac.or.th/courseDetail.php?Code=CSO24070030
โพสต์เมื่อ :
9 ส.ค. 2567 17:18:04
 862
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์