การประเมินผลการดำเนินธุรกิจให้กับนักบัญชี

การประเมินผลการดำเนินธุรกิจให้กับนักบัญชี

            ดิฉันในฐานะที่มีความรู้เรื่องการประเมินผลการดำเนินงาน วันนี้ขอนำเสนอเรื่องการประเมินผลการดำเนินธุรกิจให้กับนักบัญชีได้รับทราบ

ทำไมนักบัญชีต้องทราบเรื่องการประเมินผล
            ก็เนื่องจากว่า การประเมินผลเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับความยั่งยืนและการเจริญเติบโตขององค์กร ในทุกองค์กรจะต้องกำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจและนำไปสู่การจัดทำ แผนธุรกิจและแผนกลยุทธ์ขององค์กร โดยในแผนธุรกิจและแผนกลยุทธ์จะต้องกำหนดเป้าหมายความสำเร็จไว้ในแผนอย่างชัดเจน ซึ่งหากการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ผลที่ตามมาก็คือ องค์กรจะประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ เป็นไปตามวิสัยทัศน์ที่ตั้งเป้าหมาย แต่ในความเป็นจริงการดำเนินธุรกิจไม่ราบรื่น มักจะมีปัญหาและอุปสรรค ซึ่งผู้บริหารมีหน้าที่จะต้องบริหารจัดการปัญหาอุปสรรคดังกล่าวเพื่อให้องค์กรบรรลุตามแผนที่ตั้งเป้าหมายไว้ เครื่องมือที่จะช่วยให้ผู้บริหารสามารถจัดการกับปัญหาและอุปสรรคได้ คือ การประเมินผล
            การดำเนินงาน โดยการประเมินผลการดำเนินงานที่ง่าย และผู้บริหารสามารถดำเนินการได้เองโดยใช้ทฤษฎี Balanced Scorecard Professor Robert Kaplan และ Dr. David Norton ได้คิดค้นทฤษฎี Balance Scorecard ขึ้น เพื่อใช้ในการสื่อสาร ปฏิบัติงาน และประเมินคุณภาพองค์กร เพื่อให้ผู้บริหารขององค์กรเข้าใจสถานะขององค์กร ในหลาย ๆ มุมมอง ได้อย่างถูกต้อง กระชับ และสามารถนำกลยุทธ์องค์กรไปปฏิบัติได้จริง สาเหตุของการคิดค้นแนวคิดดังกล่าว เกิดจากการที่องค์กรส่วนใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกานิยมใช้ตัวชี้วัดด้านการเงินเป็นหลัก จึงนำมาซึ่งปัญหาในตลาดหุ้นของประเทศสหรัฐอเมริการในปี ค.ศ. 1987 แล้วก็ยังเกิดปัญหาเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งนี้ เนื่องจากตัวชี้วัดทางการเงินเพียงอย่างเดียวเป็นการแสดงข้อมูลเพียงมุมมองเดียวของความสำเร็จขององค์กรและเป็นข้อมูลจากอดีต ซึ่งไม่ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและแนวโน้มที่องค์กรจะเติบโตไปในอนาคต
            ขั้นตอนการนำ Balanced Scorecard มาใช้ในองค์กรเริ่มจากการกำหนดวิสัยทัศน์ ภารกิจ และกลยุทธ์ขององค์กร จากนั้นจึงกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จ (Key Performance Indicator: KPI) ขึ้น เพื่อเป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จของแต่ละกลยุทธ์ขององค์กร โดยการจัดทำตัวชี้วัดตามแนวทาง Balanced Scorecard คือ การกำหนดตัวชี้วัดตามมุมมองทั้ง 4 ด้าน ให้มีความสมดุลทั้งมุมมองระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร ได้แก่ ด้านการเงิน (Financial) ด้านลูกค้า (Customer) ด้านกระบวนการภายใน (Internal Process) และด้านการเรียนรู้และพัฒนา (Learning and Growth) โดยมีตัวอย่างของแต่ละด้าน ดังนี้

มุมมองด้านการเงิน (Financial)
            จะเป็นการประเมินในมุมมองการเงิน เช่น การเติบโตของรายได้และกำไร การลงทุนเทียบกับผลผลิตที่ได้ การเข้าหาแหล่งเงินทุนที่มีดอกเบี้ยต่ำ กระแสเงินสด และอัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ เป็นต้น

มุมมองด้านลูกค้า (Customer)
            เป็นการพิจารณาเกี่ยวกับลูกค้าของบริษัท เช่น ความพึงพอใจของลูกค้าต่อสินค้าและบริการ ความภักดีของลูกค้า เวลาเฉลี่ยในการให้บริการลูกค้า จำนวนข้อร้องเรียนที่ลดลง และภาพลักษณ์ขององค์กร เป็นต้น

มุมมองด้านกระบวนการภายใน (Internal Process)
            เป็นการประเมินในมุมมองการดำเนินงานภายในขององค์กร เช่น ขั้นตอนการผลิตสินค้าหรือบริการ หน่วยสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการผลิตหรือการให้บริการ ขั้นตอนการสื่อสารภายในองค์กร เทคโนโลยีที่นำมาใช้ จำนวนผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ออกสู่ตลาด และความโปร่งใสในการดำเนินงาน เป็นต้น

มุมมองด้านการเรียนรู้และการพัฒนา (Learning and Growth)
            เป็นการประเมินในมุมมองการให้ความรู้ในเรื่องของการผลิตและพัฒนาในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น การอบรมพนักงาน การวิจัยและพัฒนาสินค้าและบริการการรับฟังข้อเสนอแนะและนำมาปรับปรุง และความพึงพอใจของพนักงาน เป็นต้น

            ข้อดีของการนำทฤษฎี Balanced Scorecard มาใช้ คือการมีความเชื่อมโยงกันระหว่างวิสัยทัศน์ ภารกิจ กลยุทธ์องค์กร และตัวชี้วัดเพื่อนำมาสู่ความสำเร็จของกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่ครอบคลุมทั้งมิติการเงินและไม่ใช่การเงิน นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดความตื่นตัวที่จะคิดค้นและทบทวนตัวชี้วัดในมุมมองต่าง ๆ ให้ทันสมัยสอดคล้องกับบริบท และวิสัยทัศน์ขององค์กรที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา อย่างไรก็ตาม ทฤษฎี Balanced Scorecard เหมาะสำหรับองค์กรที่มีการจัดทำแผนกลยุทธ์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานขององค์กร
            จากที่กล่าวข้างต้นจะเห็นว่านักบัญชีนอกจากจะต้องมีความรู้เรื่องบัญชีการเงินแล้ว ความรู้เรื่องการประเมินผล เพื่อให้องค์กรบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งใว้ก็มีความสำคัญด้วย ท้ายนี้หวังว่าการนำเสนอเรื่องการประเมินผลการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จจะช่วยให้นักบัญชีมีความรู้ความเข้าใจและเป็นกำลังสำคัญให้องค์กรประสบความสำเร็จ

โดย..นางสาวรสา กาญจนสาย
กรรมการในคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีด้านการบัญชีบริหาร


โพสต์เมื่อ :
6 มี.ค. 2563 13:59:51
 8040
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์