บทบาทของนักบัญชีภาษีอากรต่อกำไรทางบัญชีกับกำไรทางภาษี

บทบาทของนักบัญชีภาษีอากรต่อกำไรทางบัญชีกับกำไรทางภาษี

      การจัดทำบัญชีมีวัตถุประสงค์ เพื่อนำเสนอรายงานทางการเงิน โดยเริ่มจากการจัดทำบัญชีต้องถูกต้อง ครบถ้วน เชื่อถือได้ และต้องถือปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีและมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ดังนั้นกำไรทางบัญชี จึงสะท้อนถึงผลการดำเนินงานด้านรายได้และรายจ่ายของกิจการทั้งหมดซึ่งเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการที่เกิดขึ้นจริง และมีเอกสารหลักฐานสนับสนุนรายการที่นำมาบันทึกบัญชีนั้น
            กำไรทางบัญชีก่อนที่จะนำไปยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นจะต้องปรับปรุงให้เป็นกำไรทางภาษีตามประมวลรัษฎากร ดังนั้นบุคคลที่จะทำหน้าที่ปรับปรุงรายการทางบัญชีต่าง ๆ ที่ปรากฏในบัญชีเพื่อให้ได้กำไรสุทธิทางภาษีนั้นก็คือผู้มีความรู้ทางด้านบัญชีและมีความรู้ด้านภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร หรือเรียกชื่อว่านักบัญชีภาษีอากร นั่นเอง
            สภาวิชาชีพบัญชี ได้ทยอยออกบทความให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับนักบัญชีภาษีอากรมาโดยตลอด และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งบทความที่กล่าวถึงรายจ่ายของกิจการ ที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (6) ได้บัญญัติไว้ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ

“(6) เบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มภาษีอากร ค่าปรับทางอาญา ภาษีเงินได้ของบริษัท
หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล”


            ก่อนวันที่ 9 มีนาคม 2560 กรมสรรพากรได้ถือปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 10/2528 ซึ่งวินิจฉัยว่า เบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มภาษีอากร ค่าปรับอาญา ที่เกิดจากความผิดตามกฎหมายประมวลรัษฎากรเท่านั้นที่จะถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามไม่ให้นำมาคำนวณเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษีอากร แต่หลังจากมีคำพิพากษาฎีกาที่ 1109/2559 วินิจฉัยว่า ค่าปรับอาญาและเงินเพิ่มภาษีอากรตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร มิใช่ค่าปรับและเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากรเท่านั้น แต่รวมถึงค่าปรับที่เป็นโทษทางอาญาและเงินเพิ่มภาษีอากรตามกฎหมายอื่นด้วย
            หลังจากมีคำพิพากษาฎีกาดังกล่าว คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรจึงมีการประชุมหารือและออกคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 40/2560 เรื่อง เบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มภาษีอากร และค่าปรับอาญาตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฏากร สั่ง ณ วันที่ 9 มีนาคม 2560 โดยให้ยกเลิกคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 10/2528 ลงวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2528 และกำหนดให้เบี้ยปรับ และหรือเงินเพิ่มภาษีอากร และค่าปรับทางอาญาตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร ให้หมายความรวมถึงเบี้ยปรับ และหรือเงินเพิ่มภาษีอากร และค่าปรับทางอาญาตามกฎหมายภาษีอากรทุกประเภท โดยพิจารณาเห็นว่า เนื่องจากเบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มภาษีอากรและค่าปรับทางอาญาเป็นการลงโทษผู้กระทำผิด จึงไม่ควรให้นำมาลงเป็นรายจ่ายทางภาษีอีก เพราะจะเป็นการสนันสนุนบุคคลผู้กระทำความผิด

ตัวอย่าง บริษัท ก จำกัด มีกำไรสุทธิจากการประกอบกิจการตามบัญชีเป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท ดังมีรายละเอียดดังนี้คือ

จากตัวอย่างจะเห็นว่านักบัญชีภาษีอากรจะต้องปรับปรุงกำไรทางบัญชีให้เป็นกำไรทางภาษี

            โดยบวกกลับรายจ่ายต้องห้ามรายการค่าปรับศุลกากรจำนวน 600,000 บาท จะทำให้บริษัทมีกำไรทางภาษีเท่ากับ 800,000 บาท (200,000+600,000) บริษัทจึงต้องนำกำไรสุทธิจำนวน 800,000 บาทไปเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

โดย..นางสันทนา ศักดิ์สุทธยาคม
กรรมการในคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีด้านการบัญชีภาษีอากร



โพสต์เมื่อ :
6 มี.ค. 2563 14:30:57
 5514
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์