• หน้าแรก

  • ข่าวสาร

  • Newsletter

  • มาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ

มาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ

  • หน้าแรก

  • ข่าวสาร

  • Newsletter

  • มาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ

มาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ

เมื่อช่วงต้นปี 2559 หลายท่านคงเคยได้ยินว่ากรมสรรพากร ได้เปิดให้มีการจดแจ้ง แก่ผู้ประกอบการที่มีรายได้จากการประกอบกิจการไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยให้กิจการเหล่านั้น ทำการลงทะเบียน แล้วทำการปรับปรุงทางบัญชีในรายงานทางการเงินปี 2558 เพื่อให้งบแสดงฐานะการเงินณ วันที่ 1 มกราคม 2559 สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ดำเนินการจดแจ้ง เพื่อให้ได้รับสิทธิต่าง ๆ ตามพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 เช่น การได้รับยกเว้นการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมินภาษี สำหรับเหตุการณ์รายการทางการค้าซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2559 เพื่อให้ได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2559 และได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2560 แต่ยังมีอีกหลายกิจการที่จดแจ้งแต่มิได้ดำเนินการปรับปรุงรายการทางบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ
            การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการนั้น เป็นแนวทางที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ระบบการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E–payment) ซึ่งมีประโยชน์ต่อประเทศทั้งภาครัฐและภาคเอกชนหากมองในมุมมองเล็ก ๆ ง่าย ๆ ว่าในอนาคตทุกกิจการจะต้องก้าวเข้าสู่ระบบการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E–payment) หมายถึงการไม่ใช้เงินสดการเริ่มต้น ทุกกิจการจะต้องนำเงินสดตามที่แสดงไว้ในงบแสดงฐานะการเงินของกิจการเป็นจุดตั้งต้น ดังนั้น หากในวันนี้กิจการยังมิได้จัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ สินทรัพย์และหนี้สิน ในงบแสดงฐานะการเงินยังมิได้แสดงตามความเป็นจริง ท่านจะสามารถเริ่มต้นเข้าสู่ระบบการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E–payment) ได้อย่างไร
            เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2562 ได้เกิดความร่วมมือกัน ระหว่าง 5 หน่วยงาน สภาวิชาชีพบัญชี กรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ธนาคารแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ทำบันทึกว่าด้วยการสนับสนุนและกำกับดูแลผู้ประกอบการให้จัดทำบัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ โดยกรมสรรพากรได้เสนอ “มาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ” ซึ่งถือเป็นโอกาสอีกครั้ง ที่กิจการสามารถทำการปรับปรุงรายการทางบัญชีเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่ถูกต้องเพื่อกิจการจะสามารถจัดทำบัญชีสอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการได้ต่อไป เรามาศึกษาถึงคุณสมบัติ สิทธิประโยชน์ และวิธีการกันนะคะ

ผู้ประกอบการที่จะได้รับสิทธิต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้

  1. มีรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้ายซึ่งมีกำหนดครบสิบสองเดือนโดยวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดก่อนหรือในวันที่ 30 กันยายน 2561 ไม่เกินห้าร้อยล้านบาท ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
  2. ได้มีการยื่นรายการภาษีเงินได้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตาม ข้อ 1 ไว้แล้ว ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
  3. ไม่เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีหรือผู้ใช้ใบกำกับภาษีที่กรมสรรพากรได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำความผิดอาญาเกี่ยวกับใบกำกับภาษีตามประมวลกฎหมายอาญาไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ


หากกิจการของท่านมีคุณสมบัติครบถ้วนแล้ว จะได้สิทธิประโยชน์และต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

  1. ลงทะเบียนต่อกรมสรรพกรภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
  2. ยื่นแบบแสดงรายการภาษีอากรหรือยื่นขอเสียภาษีอากรเป็นตัวเงิน พร้อมทั้งชำระภาษีอากรที่ยังไม่ได้ชำระหรือยังชำระไม่ครบถ้วนทั้งจำนวน ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2562 โดยได้สิทธิในการยกเว้นเบี้ยปรับ และเงินเพิ่มสำหรับการยื่นแบบแสดงรายการปรับปรุงเพิ่มเติม ดังนี้
    2.1 ภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลของรอบระยะเวลาบัญชีที่มีวันเริ่มต้นในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 256
    2.2 ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับรายรับประจำเดือนภาษีตั้งแต่ เดือนมกราคม 2559 จนถึงเดือนภาษีก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
    2.3 อากรแสตมป์ สำหรับตราสารที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดให้ชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 จนถึงวันก่อนที่พระราชบัญญัติใช้บังคับ
  3. ยื่นแบบแสดงรายการภาษีอากรทุกประเภทตามประมวลรัษฎากรที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่หัก หรือนำส่ง สำหรับธุรกรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 จนถึงวันก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ พร้อมทั้งนำส่งภาษีอากรที่ยังไม่ได้นำส่งหรือยังส่งไม่ครบถ้วนทั้งจำนวน ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2562

เมื่อกิจการได้ดำเนินการตามขั้นตอนแล้ว กิจการยังต้องมีหน้าที่ต่อเนื่องดังนี้
            บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี แบบนำส่งภาษี และแบบขอเสียอากรเป็นตัวเงิน สำหรับภาษีอากรทุกประเภทผ่านระบบอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากร สำหรับการยื่นแบบตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 จึงจะถือว่าได้ดำเนินการอย่างครบถ้วน หากมิได้ดำเนินการตามหน้าที่นี้ กิจการจะหมดสิทธิได้รับการยกเว้นเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม ที่ได้ชำระภาษีไว้แล้วโดยจะต้องชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่มในภายหน้า
            นี่เป็นโอกาสอีกครั้งที่ทุกฝ่ายสามารถที่จะร่วมกันจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ เพื่อก้าวไปสู่ระบบการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-payment) ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ “Thailand 4.0” ด้วยกัน ซึ่งคงต้องร่วมมือกันทั้ง ผู้ประกอบการ ผู้ทำบัญชี และผู้สอบบัญชี ซึ่งปัญหาในการปรับปรุงทางบัญชี หน่วยงานต่าง ๆ ที่ร่วมลงนามในวันที่ 15 มีนาคม 2562 ได้แก่ สภาวิชาชีพบัญชีของเรา และกรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ธนาคารแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ได้ทำบันทึกว่าด้วยการสนับสนุนและกำกับดูแลผู้ประกอบการให้จัดทำบัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ จะทำการสนับสนุนข้อมูลและวิธีการเพื่อให้กิจการสามารถปรับปรุงงบการเงินเพื่อให้มีการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการค่ะ ติดตามกันต่อไปนะคะ

โดย..นางสาวโนรา โพธิ์มัจฉา
กรรมการในคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีด้านการบัญชีภาษีอากร


โพสต์เมื่อ :
13 พ.ค. 2563 16:11:42
 2786
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์