การประชุมสัมมนา World Congress of Accountants 2022 “WCOA 2022”

การประชุมสัมมนา World Congress of Accountants 2022 “WCOA 2022”






          เมื่อวันที่ 18 – 21 พฤศจิกายน 2565 ผู้แทนสภาวิชาชีพบัญชี ได้แก่ นายสุพจน์ สิงห์เสน่ห์ เลขาธิการ นางสาวสุภาณี ศรีสถิตวัตร ผู้ช่วยเลขาธิการ นางภูษณา แจ่มแจ้ง ผู้อำนวยการ ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมสัมมนา World Congress of Accountants 2022 (WCOA) ณ ศูนย์การประชุม Jio World Convention Centre เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีรชัย อรุณเรืองศิริเลิศ อุปนายกคนที่ 1 รองศาสตราจารย์ดร.วรศักดิ์  ทุมมานนท์ ประธานคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิภาดา ตันติประภา เลขานุการในคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สันสกฤต วิจิตรเลขการ กรรมการในคณะกำหนดมาตรฐานการบัญชี และ ดร.ฐาน์รตี มุขดี นักวิชาการด้านต่างประเทศและเลขานุการสมาพันธ์นักบัญชีอาเซียน ได้เข้าร่วมประชุมเสมือนจริง WCOA เป็นการประชุมของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่ใหญ่ที่สุดในระดับนานาชาติที่จัดขึ้นทุกๆ 4 ปี และครั้งนี้ จัดขึ้นโดย The Institute of Chartered Accountants of IndiaICAI” ร่วมกับ International Federation of Accountants “IFAC” โดยการประชุมสัมมนาครั้งนี้ ได้จัดวิทยากร และผู้ร่วมอภิปราย มากกว่า 150 คน และมีผู้เข้าร่วมการประชุมประมาณ 10,000 คน จากทั่วทุกมุมโลกในศูนย์การประชุมและผ่านออนไลน์ในรูปแบบเสมือนจริง  

          การประชุมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้นักบัญชี และหน่วยงานวิชาชีพบัญชีทั่วโลกได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และรับความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ด้านวิชาชีพบัญชีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมทั้ง ยังถือเป็นโอกาสอันดีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้เวทีในครั้งนี้สร้างเครือข่ายทางด้านบัญชี ในโอกาสนี้ ICAI ได้เชิญ Smt. Nirmala Sitharaman รัฐมนตรีการคลังและวิสาหกิจ ของรัฐบาลอินเดีย (Honorable Minister of Finance and Corporate Affairs), Mr. Om Birla โฆษกสภาผู้แทนราษฏรของประเทศอินเดีย, Dr. Debashis Mitra, นายกสภาวิชาชีพบัญชีของ ICAI, Mr. Aniket S. Talati อุปนายกสภาวิชาชีพบัญชี ของ ICAI, Mr. Alan Johnson, Outgoing President, IFAC และ CA Prafulla P. Chhajed, ประธานคณะกรรมการบริหารการจัดงาน WCOA 2022 เข้าร่วมกล่าวเปิดงาน โดยหัวข้อและเนื้อหาของการประชุม เน้นการสร้างความเชื่อถือ และความยั่งยืนในวิชาชีพบัญชี Building Trust and Enabling Sustainability และมีหัวข้อต่าง ๆ อาทิ Future of Accounting, Leading Sustainability: How do we build a profession that is ready, Assurance: Enhancing Trust and Confidence in Sustainability วิทยากรบนเวทีได้ร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์และความมุ่งมั่นที่จะสร้างความก้าวหน้าในวิชาชีพบัญชี และเน้นย้ำว่า แรงผลักดันด้านความยั่งยืนจากนักบัญชีนั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญให้เกิดความสำเร็จขององค์กรและธุรกิจให้เติบโตและพัฒนาได้อย่างยั่งยืน โดยนักบัญชีวิชาชีพนั้นต้องดำรงตนอย่างซื่อสัตย์ (Integrity) และมีเกียรติศักดิ์ (Dignity) จึงจะทำให้วิชาชีพบัญชีได้รับความไว้วางใจ (Trust)  และความไว้วางใจนั้นจะทำให้เกิดโอกาส (Opportunity) ได้อย่างมากมาย

          นอกจากนี้ ผู้แทนสภาวิชาชีพบัญชีได้มีโอกาสประชุมนอกรอบกับ Ms. Gabriela Figueiredo Dias ประธานคณะกรรมการกำหนดจรรยาบรรณระหว่างประเทศ (International Ethics Standards Board for Accountants “IESBA”) และ Mr. Sanjiv Kumar Chaudhary กรรมการ และ Mr. Geoffrey Kwan ผู้อำนวยการของ IESBA ซึ่งได้แจ้งให้ทราบถึงแผนงานของ IESBA ที่อยู่ระหว่างดำเนินการออกมาตรฐานด้านจรรยาบรรณให้สอดคล้องควบคู่ไปกับการกำหนดมาตรฐานรายงานด้านความยั่งยืน (International Sustainability Standards) และมาตรฐานรายงานทางการเงิน (International Financial Reporting Standards) ที่เกี่ยวข้อง ความท้าทายของการนำมาตรฐานด้านจรรยาบรรณมาใช้ในสถานการณ์ที่มีการให้บริการด้านการตรวจสอบ (Assurance Services) โดยผู้ที่ไม่ได้ประกอบวิชาชีพบัญชี (Non-profession accountants) เนื่องด้วยการรายงานด้านความยั่งยืน อาจให้บริการได้จากทั้งผู้ที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี (Professional accountants) และผู้ที่ไม่ได้ประกอบวิชาชีพบัญชี อย่างไรก็ตาม การกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องปฏิบัติตามมาตรฐานใด ๆ นั้น เป็นเรื่องที่ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลกฎหมายต่าง ๆ (Regulator) ในแต่ละประเทศเป็นผู้กำหนด นอกจากนี้ IESBA ได้ขอทราบความเห็นและความคืบหน้าเกี่ยวกับการกำหนดจรรยาบรรณของผู้ประกอบการวิชาชีพบัญชีของสภาวิชาชีพบัญชีของประเทศไทย ซึ่งเลขาธิการได้ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับจรรยาบรรณในวิชาชีพบัญชีของไทย ซึ่งได้กำหนดให้มี CPD จรรยาบรรณกับผู้สอบบัญชี และได้มีการขอความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐบาลให้มีการกำหนดจรรยาบรรณของผู้ทำบัญชีด้วย พร้อมทั้งได้เสนอแนะให้ IEABA จัดทำวีดีทัศน์ที่สื่อสารให้ความรู้ด้านจรรยาบรรณในรูปแบบสถานการณ์หรือพฤติการณ์ที่ควรประพฤติหรือไม่ประพฤติให้แก่ประเทศสมาชิกจะส่งเสริมให้สามารถนำมาตรฐานฯ ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

          ผู้แทนสภาวิชาชีพบัญชี ยังได้มีโอกาสพบปะกับผู้อำนวยการสมาพันธ์นักบัญชีอาเซียน (ASEAN Federation of Accountants “AFA”) และ ตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพบัญชีในประเทศแถบอาเซียน อาทิ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และนักบัญชีอินเดียที่เข้าร่วมประชุม โดยได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการนำมาตรฐานวิชาชีพ และสถานการณ์วิชาชีพของแต่ละประเทศพร้อมทั้งโอกาสที่จะมีความร่วมมือด้านงานบัญชีในประเทศไทย

 

 

โพสต์เมื่อ :
24 พ.ย. 2565 11:46:29
 1498
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์