สภาวิชาชีพบัญชี จัดงานรวมตัว CFO ที่เว้นว่างไปกว่า 10 ปี

สภาวิชาชีพบัญชี จัดงานรวมตัว CFO ที่เว้นว่างไปกว่า 10 ปี








          เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนทัล กรุงเทพ สภาวิชาชีพบัญชี ได้จัดงาน CFO Conference 2023 ในเรื่อง Embracing Changes & Unveiling the Path to Business Resilience and Success ที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่น่าท้าทาย และร่วมกันหาวิธีที่จะนำพาบริษัทไปสู่ความสำเร็จอย่างมั่นคง จึงเป็นงานสำคัญที่เปิดโอกาสให้ผู้บริหารด้านการเงินและบัญชีทั่วประเทศ รวมทั้งผู้บริหารระดับ
C-suite ได้มีโอกาสพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและประเด็นที่น่าสนใจในขณะนี้อย่างเปิดกว้าง


          คุณไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด และกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวถึง สภาพตลาดเงิน ตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศที่เปลี่ยนไปอย่างมาก แม้ช่องทางการระดมทุนที่ซ้ำซ้อนบางลักษณะยังไม่สามารถทำได้ในประเทศก็ตาม
ผู้บริหารจึงจำเป็นต้องตื่นตัว และมองความซ้ำซ้อนของตลาดทุนให้ออก

          คุณอรกัญญา พิบูลธรรม ประธานหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับสภาพการค้า การลงทุนโดยการเปรียบเทียบของไทยกับของต่างประเทศ และชี้ให้เห็นปัจจัยเกื้อหนุนที่ประเทศต้องปรับ และเดินหน้าให้ทันกับต่างประเทศ อาทิ กฏหมายที่มีเป็นจำนวนมาก และยังไม่สอดรับกันในต่างหน่วยงาน อัตราค่าแรงขั้นต่ำ และอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สะท้อนสภาพเศรษฐกิจ เป็นต้น ผู้บริหารสายการเงินและการบัญชีของหลายบริษัท ต่างตระหนักถึงความจำเป็นของการปรับกระบวนการทางธุรกิจให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และความไม่แน่นอนของสภาพการค้า การลงทุน และความต้องการของลูกค้าที่ปรับเปลี่ยนไป เพื่อให้บริษัทสามารถเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่อยู่รอดได้เท่านั้น ซึ่งคุณนภารัตน์ ศรีวรรณวิทย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงิน บัญชี และบริหารความเสี่ยง บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) คุณชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และดร.เอกพงษ์ ตั้งศรีสงวน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยู อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ได้แชร์ตัวอย่างของแนวทาง วิสัยทัศน์ และแผนงานเพื่อมุ่งดำเนินการสู่เป้าหมายที่บริษัทกำหนดไว้อย่างน่าสนใจ

          การเร่งการนำดิจิทัลมาช่วยในองค์กรให้เร็วขึ้นจากที่ทำอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่บริษัทส่วนใหญ่ที่มีการขยายงานกำหนดไว้เป็นพันธกิจของบริษัท ทั้งนี้ คุณวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงความสำคัญของแผนขับเคลื่อนบริษัท ที่ต้องกำหนดเส้นทางเป็นกระบวนการต่อเนื่อง ทั้งในการทบทวนแนวทางการจัดหาวัตถุดิบ การนำดิจิทัลมาใช้ การบริหารคน การมีธุรกิจใหม่ โดยยังต้องคำนึงความยั่งยืนของบริษัทไปพร้อมกัน โดยมีคุณทีเพนดร้า โลฮูมิ ประธานเจ้าหน้าที่ กลุ่มงานเทคโนโลยีและดิจิทัล ของบริษัทมาร่วมแชร์มุมมองด้วย และคุณศีลวัต สันติวิสัฎฐ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย ย้ำถึงการต้องตื่นตัวในเรื่องการใช้ดิจิทัลนี้อย่างชัดเจนขึ้น จากกระแสการปรับเปลี่ยนทั้งภายใน และภายนอก รวมทั้งการให้ความสำคัญในการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการออกใบกำกับภาษี และการเก็บภาษีของกรมสรรพากร ซึ่งในระยะที่ผ่านมา แม้การทำธุรกรรมกับธนาคารผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์มีการใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นแล้วก็ตาม แต่สภาพสังคม และการค้าที่เปลี่ยนไป ทำให้บริษัทจำเป็นต้องใช้ดิจิทัลมาช่วยทวีความสำคัญมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ เช่น
ในเรื่องการทำนิติกรรมสัญญาทางดิจิทัล และการเรียกเก็บเงินทันทีระหว่างบริษัทผู้ซื้อ และผู้ขาย เป็นต้น

          ในส่วนของการกำกับดูแลและความยั่งยืนของธุรกิจ รศ. ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขากำกับดูแลกิจการคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร. ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และคุณภัทรลดา สง่าแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองด้านความเสี่ยงด้านการเงินที่สำคัญ รวมทั้งความเสี่ยงด้านความยั่งยืน มีประเด็นใดบ้างที่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัท และการใช้ GRC เป็นเครื่องมือช่วยให้การบริหารความเสี่ยงมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยได้ยกกรณีประกอบ ไม่ว่าจะเป็น
กรณีการตกแต่งบัญชี ตัวอย่างการกล่าวโทษของ ก.ล.ต. ต่อบริษัทจดทะเบียนทั้งของไทย และต่างประเทศ ให้เห็นถึงความเสี่ยงทางการเงินที่
อาจเกิดขึ้น และมีผลกระทบกับบริษัทอย่างคาดไม่ถึง


โพสต์เมื่อ :
8 ส.ค. 2566 13:40:12
 1021
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์