• หน้าแรก

  • ข่าวสาร

  • ก้าวทันข่าวชาวออดิท ฉบับที่ 8 สรุปประเด็นบัญชีและการสอบบัญชีแบบย่อ

ก้าวทันข่าวชาวออดิท ฉบับที่ 8 สรุปประเด็นบัญชีและการสอบบัญชีแบบย่อ

  • หน้าแรก

  • ข่าวสาร

  • ก้าวทันข่าวชาวออดิท ฉบับที่ 8 สรุปประเด็นบัญชีและการสอบบัญชีแบบย่อ

ก้าวทันข่าวชาวออดิท ฉบับที่ 8 สรุปประเด็นบัญชีและการสอบบัญชีแบบย่อ

            สวัสดีครับ ผมไม่ได้เขียนอัพเดทข่าวให้เพื่อน ๆ ได้เดือนกว่ามาแล้ว เนื่องจากอุทกภัยน้ำท่วมและคาดว่าทุกคนคงไม่อยู่ในโหมดของการติดตามข่าวออดิท แต่อยู่ในโหมดของการตามข่าวน้ำท่วมน้ำลดมากกว่า.. บัดนี้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว..ผมจึงขอเริ่มเขียนข่าวให้เพื่อนได้อ่านกัน.. ในช่วงที่ผ่านมาเพื่อน ๆ ทราบหรือไม่ว่าสภาวิชาชีพฯและคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีด้านการสอบบัญชี (กสบ) ได้คิดและทำอะไรเกี่ยวกับผลกระทบจากน้ำท่วมบ้าง.. มีอยู่หลายกิจกรรมครับไม่ว่าจะเป็นโครงการนักบัญชีร่วมใจช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยการจัดสัมมนาเรื่องประเด็นความเคลื่อนไหวของ TFRSs และ TSA ใหม่ และนำรายได้ทั้งหมดบริจาคเป็นเงินการกุศลช่วยผู้ประสบภัย อีกทั้งมีการจัดสัมมนาเรื่องการบัญชีภายหลังวิกฤตน้ำท่วม ซึ่งเน้นเรื่องประเด็นบัญชี การสอบบัญชีและภาษีซึ่งมีผลกระทบกับนักบัญชีในการจัดทำงบการเงินรวมทั้งการตรวจสอบงบการเงินของผู้สอบบัญชีในปีนี้…สำหรับเพื่อน ๆ ที่พลาดไม่ได้เข้าฟังสัมมนานี้ไม่ต้องเสียใจครับ.. ผมจะสรุปประเด็นบัญชีและการสอบบัญชีแบบย่อซึ่งไม่ครอบคลุมทั้งหมดแต่จะเป็นเรื่องฮอต ๆ ให้ดังนี้ครับ

1. ประเด็นเอกสารของบริษัทบางส่วนสูญหายหรือสูญหายทั้งหมด... ชาวออดิทต้องติดต่อให้บริษัทขอเอกสารสำเนาอื่นจากบุคคลภายนอกมาทดแทนเพื่อการตรวจสอบ ถ้าบริษัทหาไม่ได้หรือไม่มี ชาวออดิทต้องคิดหาวิธีการตรวจสอบอื่นทดแทน... แล้วถ้าไม่มีทั้งเอกสารและวิธีการตรวจสอบอื่นทดแทนได้เลย แน่นอนว่าเรื่องนี้กระทบต่อความเห็นในรายงานผู้สอบบัญชีเพราะถูกจำกัดขอบเขตโดยสถานการณ์

2. ประเด็นสินทรัพย์ของบริษัทได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมทั้งทางตรงและทางอ้อมทำให้มีข้อบ่งชี้ว่าสินทรัพย์อาจเกิดการด้อยค่า เช่น กลุ่มทางตรง ได้แก่ ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ สินค้าคงเหลือ และเงินลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มทางอ้อม ได้แก่ ลูกหนี้การค้าหรือเงินลงทุนในบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม สินทรัพย์ไม่มีตัวตน ค่าความนิยม และสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชี เป็นต้น.. บริษัทต้องจัดเตรียมเอกสารเพื่อประเมินและบันทึกการด้อยค่าของสินทรัพย์อย่างเหมาะสมและครบถ้วนตามมาตรฐานการบัญชีถ้าอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ส่วนชาวออดิทต้องตรวจสอบว่าการประเมินและบันทึกการด้อยค่าของสินทรัพย์นั้นเหมาะสมและครบถ้วนแล้ว.. การติดต่อและแนะนำบริษัทเพื่อเตรียมข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญครับ เช่นการทำรายงานแยกสินทรัพย์สภาพดี เสียแต่ซ่อมได้ เสียและจะทำลาย หรือสูญหายเป็นต้น จะช่วยให้สะดวกต่อการประเมินและตรวจสอบครับ

3. ประเด็นการบันทึกเงินชดเชยจากบริษัทประกันภัยจะบันทึกได้เมื่อไหร่… ตามหลักบัญชีต้อง “Virtually certain” เท่านั้น.. เล่นแรงนะคือว่าต้องมีความแน่นอนในเงินที่จะได้รับชดเชยและบริษัทรับประกันภัย (รวมถึงบริษัทรับประกันภัยต่อ) มีความสามารถในการจ่ายเงินชดเชยอย่างแน่นอน.. ชาวออดิทควรแนะนำให้บริษัทบันทึกรายได้เงินชดเชยเมื่อได้รับหลักฐานยืนยันการจ่ายเงินชดเชยจากบริษัทประกันครับ

4. ประเด็นฮอต ๆ สุดท้ายคือประเด็นการบันทึกประมาณการหนี้สินค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูและปรับสภาพเพื่อให้สามารถเริ่มดำเนินงานได้ใหม่ หรือค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมสินทรัพย์ให้กลับเข้าสู่สภาพเดิม คือว่าบริษัทต้องการจัดเต็มโดยบันทึกหนี้สินทั้งหมดได้หรือไม่ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้รับบริการใด ๆ ณ สิ้นปี… ชาวออดิทช่วยแนะนำบริษัทด้วยว่า “ไม่ได้” เพราะยังไม่มีภาระผูกพันอีกทั้งจะรับบริการในอนาคตด้วย

5. ขอแถมประเด็นอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นและเป็นไปได้ในบางบริษัทที่ชาวออดิทต้องระวังอย่าเพลินเกินเหตุ เช่น การพิจารณาว่าบริษัทมีภาระผูกพันที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ซึ่งเกิดขึ้นจากสัญญาที่มีอยู่ ณ สิ้นปีหรือไม่ (onerous contact) เช่น ค่าปรับสำหรับความล่าช้าในการส่งสินค้าหรือให้บริการ แล้วบริษัทบันทึกประมาณการหนี้สินเหล่านี้ครบยัง… หรือประเด็นมีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดข้อสงสัยอย่างมากเกี่ยวกับการดำเนินงานต่อเนื่อง เช่นการย้ายฐานการผลิตและปิดบริษัทหนีน้ำซะอย่างนั้น จะมีผลกระทบต่องบการเงินอย่างไร เป็นต้น

            ต้องขอจบแค่นี้ก่อนครับเพราะเดี๋ยวจะตึงเกินไป … ฉบับหน้าติดตามว่าชาวออดิทต้องทำตัวอย่างไรเพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

โพสต์เมื่อ :
20 พ.ย. 2560 14:33:36
 4314
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์