มาตรฐานบัญชี ฉบับที่ 105 : รบกวนสอบถามเรื่องการตีความข้อความใน มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 105 หัวข้อการ

มาตรฐานบัญชี ฉบับที่ 105 : รบกวนสอบถามเรื่องการตีความข้อความใน มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 105 หัวข้อการ

Q:

มาตรฐานบัญชี ฉบับที่ 105 :

รบกวนสอบถามเรื่องการตีความข้อความใน มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 105 หัวข้อการจัดประเภทเงินลงทุน ข้อ 17. "หากกิจการลงทุนในตราสารทุนที่ไม่อยู่ในความต้องการของตลาด กิจการต้องจัดประเภทของเงินลงทุนตามลักษณะความสัมพันธ์...ฯลฯ..." ดิฉันมีความเข้าใจว่าคำว่า "ไม่อยู่ในความต้องการของตลาด" หมายถึง มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังนั้น

  1. หากมีตราสารทุนเพียงพอที่จะมีอิทธิพลอย่างเป็นสาระสำคัญ ต้องจัดเป็น "เงินลงทุนในบริษัทร่วม"
  2. หากมีตราสารทุนเพียงพอที่จะสามารถควบคุมกิจการที่ไปลงทุน ต้องจัดเป็น "เงินลงทุนในบริษัทย่อย และทำงบการเงินรวม"
  3. หากมีตราสารทุนที่ไม่ถึงขั้นที่มีอิทธิพลอย่างเป็นสาระสำคัญ หรือสามารถควบคุมกิจการได้ ต้องจัดเป็น "เงินลงทุนทั่วไป"

          แต่กรณีที่เป็นกิจการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เท่าที่ดูในหัวข้อนี้ไม่มีการกล่าวถึง ดังนั้นจึงขอความอนุเคราะห์สอบถามว่า ตามมาตรฐานบัญชีดังกล่าว กิจการจะต้องจัดประเภทเงินลงทุนเหมือนหรือแตกต่างจากกรณี "ตราสารทุนที่ไม่อยู่ในความต้องการของตลาด" หรือไม่ อย่างไร

          หากดิฉันเข้าใจคำว่า "ไม่อยู่ในความต้องการของตลาด" ผิด ขอให้ช่วยอธิบายด้วยค่ะ

(คำถามประจำเดือนมีนาคม 2559)

A:

ตามที่ท่านถามมานั้นขอชี้แจงดังนี้

1. มาตรฐานการบัญชีฉบับที่  105 เรื่อง การบัญชีสำหรับเงินลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุน ไม่ครอบคลุมถึง เงินลงทุนในบริษัทย่อย (ย่อหน้าที่ 2.2) บริษัทร่วม  (ย่อหน้าที่ 2.3) และการร่วมค้า (ย่อหน้าที่ 2.4) ซึ่งเงินลงทุนเหล่านั้นต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีที่เกี่ยวข้องคือ

มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 27 (ปรับปรุง 2558) เรื่อง งบการเงินเฉพาะกิจการ
มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 28 (ปรับปรุง 2558) เรื่อง เงินลงทุนในบริษัทร่วม และการร่วมค้า
มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 10 (ปรับปรุง 2558) เรื่อง งบการเงินรวม
มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 11 (ปรับปรุง 2558) เรื่อง การร่วมการงาน
มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 12 (ปรับปรุง 2558) เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับส่วนได้เสียในกิจการอื่น

          ดังนั้น หากเป็นเงินลงทุนที่เข้าข่ายของกลุ่มบริษัท ให้ไปพิจารณาตามมาตรฐานฉบับดังกล่าว แต่หากไม่ใช่เงินลงทุนของกลุ่มบริษัทให้พิจารณาตามมาตรฐานฉบับนี้ โดยการจัดประเภทสำหรับเงินลงทุนตามมาตรฐานฉบับนี้ให้จัดประเภทตามย่อหน้าที่ 10 ของมาตรฐานฉบับนี้ กล่าวคือบริษัทต้องจัดประเภทก่อนว่าเงินลงทุนดังกล่าว อยู่ในความต้องการของตลาดหรือไม่ ถ้าอยู่ ในความต้องการของตลาด ให้พิจารณาว่าเป็นเงินลงทุนในหลักทรัพย์เพื่อค้า / เผื่อขาย / ตราสารหนี้ที่จะถือจนครบกำหนด (หากมี) ตามคำนิยามของตราสารแต่ละประเภท แต่หากเงินลงทุนดังกล่าวไม่อยู่ในความต้องการของตลาด ก็จะถือเป็นเงินลงทุนทั่วไป

2. คำว่าตลาด ในที่นี้ให้หมายถึงตลาดซื้อขายคล่องทุกประเภทที่สามารถซื้อขายหลักทรัพย์หรือเงินลงทุนได้ ซึ่งมิได้จำกัดเฉพาะตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ยังรวมถึงตลาดตราสารอื่นๆ เช่น ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ หรือ ตลาดตราสารหนี้ เป็นต้น ทั้งนี้ให้ศึกษาคำนิยามของ "ตลาดซื้อขายคล่อง" และ "หลักทรัพย์หรือเงินลงทุนในความต้องการของตลาด" ในหน้าที่ 3 ของมาตรฐานการบัญชีฉบับดังกล่าว

โพสต์เมื่อ :
24 ต.ค. 2560 14:31:21
โดย :
แก้ไขล่าสุดเมื่อ :
12 ธ.ค. 2567 21:30:57
โดย :
 10618
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์