ประกาศสภาวิชาชีพบัญชี (ประกาศ 6-2550) : ดิฉันขอเรียนสอบถามเกี่ยวกับสถานะของประกาศสภาวิชาชีพบัญชี ดั

ประกาศสภาวิชาชีพบัญชี (ประกาศ 6-2550) : ดิฉันขอเรียนสอบถามเกี่ยวกับสถานะของประกาศสภาวิชาชีพบัญชี ดั

Q:

ประกาศสภาวิชาชีพบัญชี (ประกาศ 6-2550) :

ดิฉันขอเรียนสอบถามเกี่ยวกับสถานะของประกาศสภาวิชาชีพบัญชี ดังต่อไปนี้ ว่ามีการยกเลิกแล้วหรือไม่ และหากมีการยกเลิกแล้วรบกวนขอชื่อประกาศฉบับใหม่ที่มายกเลิกประกาศฯฉบับดังกล่าว พร้อมทั้งขอ file ฉบับใหม่ด้วยค่ะ

  1. ประกาศสภาวิชาชีพบัญชี ฉบับที่ 6/2550 เรื่อง คำตอบแนวทางปฏิบัติการบันทึกเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วม ประกาศวันที่ 23 มีนาคม 2550
  2. มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 28 (ปรับปรุง 2557) เรื่อง เงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้า

          นอกจากนี้ ขอเรียนสอบถามเพิ่มเติมว่า กรณีบริษัทถือหุ้นในบริษัทร่วม บริษัทจะต้องถือหุ้นในบริษัทร่วมในสัดส่วนเท่าไร จึงจะต้องจัดทำงบการเงินที่แสดงเงินลงทุน
ตามวิธีส่วนได้เสีย (เงื่อนไขที่ต้องจัดทำงบการเงินที่แสดงเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสีย)

(คำถามเดือนมีนาคม 2559)

A:

1. ประกาศฉบับที่ 6/2550 ไม่ได้ถือบังคับใช้ในปัจจุบันแล้วเนื่องจากให้ถือปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินส่วนที่เกี่ยวข้องกับงบการเงินรวม และงบการเงินเฉพาะกิจการแทน ซึ่งในปัจจุบันประกอบด้วย

มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 27 (ปรับปรุง 2558) เรื่อง งบการเงินเฉพาะกิจการ
มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 28 (ปรับปรุง 2558) เรื่อง เงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้า
มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 10 (ปรับปรุง 2558) เรื่อง งบการเงินรวม
มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 11 (ปรับปรุง 2558) เรื่อง การร่วมการงาน
มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 12 (ปรับปรุง 2558) เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับส่วนได้เสียในกิจการอื่น

2. มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 28 (ปรับปรุง 2557) เรื่อง เงินลงทุนในบริษัทร่วม และการร่วมค้า ได้รับการปรับปรุงเป็นมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 28 (ปรับปรุง 2558) เรื่อง เงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้า โดยมีผลบังคับใช้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป

          ทั้งนี้ ตามย่อหน้าที่ 5 ของ มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 28 (ปรับปรุง 2558) เรื่อง เงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้า กล่าวว่า

          หากกิจการมีอำนาจในการออกเสียงทั้งโดยทางตรงหรือทางอ้อม (เช่น โดยผ่านบริษัทย่อย) ในผู้ได้รับการลงทุนอย่างน้อยร้อยละ 20 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ากิจการมีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้ได้รับการลงทุน เว้นแต่กิจการจะมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ากรณีดังกล่าวไม่เป็นเช่นนั้น ในทางกลับกันหากกิจการมีอำนาจในการออกเสียงทั้งโดยทางตรงหรือทางอ้อม (เช่น โดยผ่านบริษัทย่อย) ในผู้ได้รับการลงทุนน้อยกว่าร้อยละ 20 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ากิจการไม่มีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญเว้นแต่จะมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ากิจการมีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้ได้รับการลงทุนนั้น การที่ผู้ลงทุนรายอื่นถือหุ้นในผู้ได้รับการลงทุนเป็นจำนวนมาก หรือเป็นส่วนใหญ่ไม่ได้หมายความว่ากิจการจะไม่สามารถมีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้ได้รับการลงทุนได้

          ดังนั้น จำนวนร้อยละในการลงทุนอาจไม่ได้เป็นกฎเกณฑ์ตายตัว (Rule-based) เสมอไป ทั้งนี้ขอให้ท่านศึกษาในย่อหน้าที่ 6 ของมาตรฐานการบัญชีฉบับดังกล่าวเพิ่มเติม และปรึกษาผู้สอบบัญชีของกิจการซึ่งจะมีความรู้ ความเข้าใจ และมีข้อมูลอย่างครบถ้วนในการพิจารณาประเด็นดังกล่าวได้ดีกว่า ทั้งนี้หากกิจการมีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้ได้รับการลงทุน กิจการต้องจัดทำงบการเงินที่แสดงเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสีย

          ท่านสมาชิกสามารถ Download มาตรฐานการบัญชีและมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เกี่ยวข้องได้จาก website ของสภาวิชาชีพบัญชี ในส่วนของหัวข้อ"มาตรฐานการรายงานทางการเงิน" 

โพสต์เมื่อ :
24 ต.ค. 2560 15:04:02
โดย :
แก้ไขล่าสุดเมื่อ :
11 ธ.ค. 2567 14:23:33
โดย :
 1849
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์