อื่น ๆ : กิจการอยู่ระหว่างการขออนุญาตประกอบธุรกิจ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่

อื่น ๆ : กิจการอยู่ระหว่างการขออนุญาตประกอบธุรกิจ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่

Q:

อื่น ๆ :

กิจการอยู่ระหว่างการขออนุญาตประกอบธุรกิจ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจสามารถเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใด ๆ ได้ไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี การประกอบธุรกิจดังกล่าว ถือว่ากิจการเป็น กิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (PAEs) หรือกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (NPAEs)

(คำถามเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2560)

A:

ตามข้อกำหนดในมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ ได้กำหนดไว้ว่า กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (NPAEs) หมายถึง กิจการที่ไม่ใช่กิจการดังต่อไปนี้

  1. กิจการที่มีตราสารทุนหรือตราสารหนี้ของกิจการ ซึ่งมีการซื้อขายต่อประชาชน ไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์ในประเทศหรือต่างประเทศ หรือการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ (Over the Counter) รวมทั้งตลาดในท้องถิ่นและในภูมิภาค หรือกิจการที่นำส่งหรืออยู่ในกระบวนการของการนำส่งงบการเงินของกิจการให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือหน่วยงานกำกับดูแลอื่น เพื่อวัตถุประสงค์ในการออกขายหลักทรัพย์ใดๆ ต่อสาธารณชน
  2. กิจการที่ดำเนินธุรกิจหลักในการดูแลสินทรัพย์ของกลุ่มบุคคลภายนอกในวงกว้าง เช่น สถาบันการเงิน บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทหลักทรัพย์ กองทุนรวม ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น เครดิตยูเนี่ยน ทั้งนี้อาจรวมถึง บริษัทนายหน้า/ตัวแทนหลักทรัพย์ วณิชธนกิจ (อ้างอิงมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม – TFRS for SMEs)
  3. บริษัทมหาชนตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชน
  4. กิจการอื่นที่จะกำหนดเพิ่มเติม

ดังนั้น หากกิจการของท่านจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน ก็ถือว่าเป็นกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (PAEs) แต่หากกิจการของท่านจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด จะต้องพิจารณาเพิ่มเติมว่าเข้าลักษณะเป็นกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะตามคำนิยามข้อ 1 หรือ 2 หรือไม่

นอกจากนี้ ตามประกาศสํานักงานเศรษฐกิจการคลัง เรื่อง การกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกํากับ หมวด 6 เรื่อง การจัดทําบัญชีและรายงาน ข้อ 11 กล่าวไว้ว่า

ให้ผู้ประกอบธุรกิจส่งรายงานงบการเงินสําหรับรอบปีปฏิทินที่ล่วงมาแล้วต่อสํานักงานเศรษฐกิจการคลังภายใน 150 วัน นับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน ถ้าปรากฏว่ารายงานงบการเงินตามวรรคหนึ่ง ไม่ถูกต้องหรือมีรายการไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ให้สํานักงานเศรษฐกิจการคลังมีอํานาจสั่งแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้อง หรือครบถ้วนสมบูรณ์ภายในระยะเวลาที่กําหนด”

ดังนั้น จึงขอให้ท่านปรึกษาสํานักงานเศรษฐกิจการคลังซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจโดยตรงในการสั่งการเกี่ยวกับรูปแบบของรายงานงบการเงินตามประกาศฉบับดังกล่าว และให้ท่านปรึกษาผู้สอบบัญชีของท่านเพิ่มเติม เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องยิ่งขึ้น

โพสต์เมื่อ :
9 พ.ย. 2560 11:02:53
โดย :
แก้ไขล่าสุดเมื่อ :
3 พ.ค. 2567 17:54:07
โดย :
 2705
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์