สินทรัพย์ไม่มีตัวตน : รบกวนขอคำปรึกษาเกี่ยวกับมาตรฐานการรายงานทางการเงิน โดยมีข้อมูลดังนี้

สินทรัพย์ไม่มีตัวตน : รบกวนขอคำปรึกษาเกี่ยวกับมาตรฐานการรายงานทางการเงิน โดยมีข้อมูลดังนี้

Q:

สินทรัพย์ไม่มีตัวตน : รบกวนขอคำปรึกษาเกี่ยวกับมาตรฐานการรายงานทางการเงิน โดยมีข้อมูลดังนี้

บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการขายบ้านพร้อมที่ดิน โดยบริษัทมีต้นทุนต่างๆในการพัฒนาอสังหาฯเพื่อขาย โดยมีหลายโครงการ

 ข้อเท็จจริง บริษัทฯมีการจ่ายค่าออกแบบเพื่อออกแบบโครงการบ้าน

1. หากค่าออกแบบโครงการบ้านนั้น บริษัทจ่ายเพื่อโครงการขายบ้านทั้งโครงการปัจจุบันและโครงการในอนาคต (จะใช้ในแบบบ้านในอนาคต)  บริษัทฯจะรับรู้ค่าออกแบบเป็นไปตามมาตรฐานใด และมีวิธีการอย่างไร

 2. หากค่าออกแบบโครงการบ้านนั้น บริษัทฯจ่ายเพื่อโครงการขายบ้านทั้งโครงการปัจจุบันและโครงการในอนาคต(อาจจะใช้ในแบบบ้านอนาคต)  บริษัทฯจะรับรู้ค่าออกแบบเป็นไปตามมาตรฐานใด

3. จากทั้ง 2 กรณี มีผลแตกต่างระหว่างบัญชีกับภาษีหรือไม่

(คำถามเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2560)

A:

ในกรณีแบบบ้านที่จะใช้ในอนาคต หรือมีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่จะใช้ในอนาคตนั้น ท่านต้องพิจารณาว่าเป็นไปตามคำนิยามของสินทรัพย์ไม่มีตัวตน ตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 38 เรื่องสินทรัพย์ไม่มีตัวตน ย่อหน้าที่ 10 หรือ มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ ย่อหน้าที่ 155 และ 157 หรือไม่ ดังนี้

กรณีกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ

10. ...รายการที่จะถือว่าเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนได้ ต้องสามารถระบุได้ ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกิจการ และต้องก่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต หากรายการใดไม่เป็นไปตามคำนิยามของสินทรัพย์ไม่มีตัวตน กิจการต้องรับร้รายจ่ายที่เกิดขึ้นเพื่อให้ได้มาหรือก่อให้เกิดซึ่งรายการน้ันเป็นค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดรายการ...

กรณีกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ

155. สินทรัพย์ไม่มีตัวตน หมายถึง สินทรัพย์ที่ไม่เป็นตัวเงินที่สามารถระบุได้และไม่มีลักษณะทางกายภาพ...

157. กิจการรับรู้สินทรัพย์ไม่มีตัวตนได้ก็ต่อเมื่อเข้าเกณฑ์ทุกข้อต่อไปนี้

157.1. มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่กิจการจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตที่จะเกิดจากสินทรัพย์นั้น

157.2. ราคาทุนของสินทรัพย์สามารถวัดมูลค่าได้อย่างน่าเชื่อถือ

ดังนั้น หากเป็นไปตามคำนิยามของสินทรัพย์ไม่มีตัวตน โดยกิจการเชื่อว่าแบบบ้านดังกล่าวมีประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต (ทั้งกรณีที่ใช้แบบบ้านแน่ในอนาคต หรือมีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่จะใช้) ให้กิจการรับรู้รายการดังกล่าวเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนและ วัดมูลค่าตามที่กำหนดในมาตรฐานฉบับดังกล่าว

ส่วนการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ไม่มีตัวตนให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 38 หรือมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ บทที่ 11

หากไม่สามารถประเมินได้ว่ารายการด้งกล่าวมีประโยชน์ในอนาคตหรือไม่ ท่านต้องรับรู้รายการดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายตามกรอบแนวคิดสำหรับการรายงานทางการเงิน  หรือต้นทุนของสินค้าคงเหลือ ตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 2 เรื่อง สินค้าคงเหลือ ย่อหน้า ที่ 10 และ มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ ย่อหน้าที่ 89 ซึ่งระบุว่า

"ต้นทุนของสินค้าคงเหลือต้องประกอบด้วยต้นทุนทั้งหมดในการซื้อ ต้นทุนแปลงสภาพและต้นทุนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อให้สินค้าคงเหลือนั้นอยู่ในสถานที่และอยู่ในสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน"

สำหรับประเด็นในทางภาษี ขอให้ท่านสอบถามไปที่กรมสรรพากรซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นดังกล่าว เพื่อให้ได้รับข้อมูลและคำตอบที่ถูกต้องยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ขอให้ท่านปรึกษาผู้สอบบัญชีของกิจการซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ และข้อมูลที่มากกว่า เพื่อให้ได้รับคำตอบที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น

 

โพสต์เมื่อ :
25 ธ.ค. 2560 14:05:31
โดย :
แก้ไขล่าสุดเมื่อ :
15 ธ.ค. 2567 17:46:40
โดย :
 6038
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์