อธิบายเพื่อความเข้าใจเพิ่มเติมการขยายเวลายื่นงบการเงินของกรมพัฒน์ฯ

อธิบายเพื่อความเข้าใจเพิ่มเติมการขยายเวลายื่นงบการเงินของกรมพัฒน์ฯ


            สภาวิชาชีพบัญชี ขอเผยแพร่คำอธิบายเรื่องมาตรการผ่อนผันการขยายเวลาการยื่นงบการเงินในช่วงสถานการณ์ Covid-19 เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับทุกท่านค่ะ.....

            หลังจากที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ออกข่าวเรื่องการขยายเวลาการยื่นงบการเงิน ก็เกิดคำถามว่า ทำไมบริษัทมีเงื่อนไขต้องทำหนังสือชี้แจง!!! และไม่ระบุวันที่สิ้นสุดการนำส่งงบการเงินให้ชัดเจนเหมือนของห้างฯ คือ 31 ส.ค. 63

            ถ้าเราลองคิดดีๆแล้ว บริษัทต่างหากที่อาจได้ประโยชน์มากกว่าห้างฯ สามารถยื่นงบการเงินออกไปได้มากกว่า 31 ส.ค. 63 ด้วยซ้ำ!!!...ทำไมหนะหรอ???

            ถ้าเราทราบกันดี ก่อนหน้านี้ กรมพัฒน์ฯ เคยออกประกาศเรื่อง มาตรการรองรับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการจัดประชุมของนิติบุคคล พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 4 มี.ค. 63 (ก็เพื่อลดการติดเชื้อไวรัสจากการมาร่วมตัวกันเพื่อจัดประชุม) คลิกอ่าน!!!  ซึ่งใจความสำคัญของประกาศคือ

            สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) อาจส่งผลให้บริษัทไม่สามารถจัดประชุม หรือประชุมล่าช้าเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

           ดังนั้นเมื่อสถานการณ์คลี่คลายและบริษัทสามารถจัดประชุมได้แล้ว ให้นำส่งหนังสือชี้แจงเหตุผลไม่สามารถจัดประชุม หรือประชุมล่าช้า เพื่อพิจารณาไม่เปรียบเทียบปรับ เรื่อง อาทิเช่น ตามกฎหมาย ปพพ. หรือ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด กำหนดให้

  • บริษัทต้องจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติงบการเงิน ภายใน 4 เดือน นับแต่วันที่สิ้นรอบปีบัญชี
  • ต้องยื่นสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) ภายใน 14 วัน นับแต่วันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น สำหรับบริษัทจำกัด และ ต้องยื่นบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บมจ.006) ภายใน 1 เดือน นับแต่วันเสร็จการประชุมสามัญประจำปี สำหรับบริษัทมหาชนจำกัด

***แล้วเกี่ยวอย่างไรกับการนำส่งงบการเงิน…..???***

            การที่บริษัทจัดประชุม (เพื่ออนุมัติงบการเงิน) ล่าช้าเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ก็จะส่งผลให้การนำส่งงบการเงินล่าช้าตามไปด้วยโดยปริยาย เห็นไหม!!! ว่าเท่ากับขยายการยื่นงบการเงินออกไปโดยอนุโลม
            เมื่อสถานการณ์คลี่คลายและบริษัทสามารถจัดประชุมได้แล้ว ให้นำส่งหนังสือชี้แจงเหตุผล และนำส่ง…

  • บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น [-แบบ บอจ.5 ภายใน 14 วัน นับแต่วันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น สำหรับบริษัทจำกัด และ แบบ บมจ.006 ภายใน 1 เดือน นับแต่วันเสร็จการประชุม สำหรับบริษัทมหาชนจำกัด]
  • งบการเงิน ภายใน 1 เดือนนับแต่วันประชุม
  • สำหรับการจัดทำหนังสือชี้แจงของบริษัทนั้น กรมพัฒน์ฯ ก็ได้มีตัวอย่างแบบฟอร์มสำเร็จรูปอำนวยความสะดวกให้ท่าน คลิก!!!  และสามารถนำส่งหนังสือได้หลังจากที่บริษัทจัดประชุมได้แล้ว (ควรก่อนหรืออย่างช้าพร้อมกับการนำส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น) โดยเลือกนำส่งผ่านได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ 1) นำส่งผ่านทางเว็บไซต์กรม 2) นำส่งด้วยตนเอง หรือ 3) นำส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน

            ดังนั้นตัวอย่างสมมุติว่าถ้าสถานการณ์คลี่คลายบริษัทสามารถจัดประชุมอนุมัติงบการเงินได้ล่าช้าไปกว่าวันที่ 31 ก.ค. 63 เมื่อจัดประชุมได้แล้วก็นำส่งหนังสือชี้แจงเหตุผลที่จัดประชุมไม่ได้ เห็นไหมว่าก็จะสามารถนำส่งงบการเงินได้ยาวกว่า 31 ส.ค. 63
            บางท่านคงค้านในใจ!!! ว่าจะยาวกว่า 31 ส.ค. 63 ได้ไง ยังไงก็ต้องถูกล๊อคด้วยกำหนดวันของกรมสรรพากรที่ขยายการนำส่ง ภ.ง.ด.50+งบการเงิน ให้ได้ถึง 31 ส.ค. 63 ส่งงบการเงินช้ากว่านี้ก็โดนปรับซิ ++ลองคิดดีๆอีกที.... เราต้องแยกกันก่อนนะว่าประมวลรัษฎากร กับประมวลแพ่งพาณิชย์และพ.ร.บ.การบัญชี 2543 มันกฎหมายคนละตัวกัน (งบการเงินที่นำส่งพร้อมแบบ ภ.ง.ด.50 เป็นไปตาม ม.69 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ถูกกำหนดให้นำส่งพร้อมแบบ ภ.ง.ด.50 โดยมีบุคคลตามมาตรา 3 สัตต ตรวจสอบและรับรอง ไม่ได้กล่าวถึงงบการเงินต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น)
แต่อย่างไรแล้วเราก็คงอยากทำทุกอย่างให้เรียบร้อยพร้อม ๆ กันนั่นแหละ
            มาถึงตรงนี้...ไม่อยากให้ถามว่าหากบริษัทประชุมเกิน 4 เดือนจะยังผิดกฎหมายอยู่หรือไม่ ก็ต้องตอบแบบคิดเองว่ากฎหมายเขียนไว้ให้ทำอย่างไรก็คงต้องทำอย่างนั้น แต่น่าจะเป็นเจตนาของกรมพัฒน์ฯ ที่ต้องการหาทางออกให้กับทางบริษัทบนพื้นฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพและชีวิตของผู้ถือหุ้นที่ต้องเข้าร่วมประชุมหากบริษัทต้องฝืนจัดให้มีขึ้นช่วงนี้ การประชุมล่าช้าไม่ได้เกิดจากเจตนา แต่เกิดจากความจำเป็น กรมพัฒน์ฯจึงได้ออกมาตรการเชิงผ่อนผันโดยขอให้ชี้แจงซักนิดก็คงจะเพื่อหาเหตุไม่เอาผิดนั้นแหละ
            จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าประกาศเดิมดังกล่าวไม่ครอบคลุมห้างฯ เนื่องจากห้างฯ ไม่มีการประชุมอนุมัติงบการเงิน ไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ปพพ. เหมือนบริษัทจำกัดที่ต้องจัดประชุมอนุมัติงบการเงิน ตาม ม.1197 และยังต้องส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นตาม ม.1139 กรมพัฒน์ฯ จึงต้องออกประกาศฉบับใหม่เรื่อง ขยายระยะเวลายื่นงบการเงินของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีที่เป็นห้างฯ... ลงวันที่ 25 มี.ค. 63 คลิก โดยใช้อำนาจอธิบดี ตาม ม.11 แห่ง พ.ร.บ.การบัญชี 2543 ให้ขยายเวลาการยื่นงบการเงินของห้างฯ โดยนำส่งได้ภายในวันที่ 31 ส.ค. 63 สำหรับงบการเงินที่มีรอบปีบัญชีสิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค. 62 ถึงวันที่ 31 มี.ค. 63 (โดยไม่ต้องมีหนังสือชี้แจง)
สุดท้ายแล้ว ถ้าเราไม่ได้รับผลกระทบ และสามารถปฏิบัติได้ตามกฎหมาย
ก็ไม่มีเหตุใดที่เราจะต้องยื่นงบการเงินหรือนำส่งภาษีล่าช้าเลย
ที่มา...กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
โพสต์เมื่อ :
27 มี.ค. 2563 12:04:07
 120973
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์