การตัดหนี้สูญภาคปฏิบัติงานจริง

การตัดหนี้สูญภาคปฏิบัติงานจริง

            จากประสบการณ์การทำงานในฐานะผู้รับทำบัญชีคนหนึ่งในวงการวิชาชีพบัญชี แม้ว่าจะผ่านประสบการณ์ในการทำบัญชีมานานกว่า 30 ปี แต่ก็ยังไม่เคยทำบัญชีตัดหนี้สูญที่ยุ่งยากข้ามทศวรรษมาก่อน ถือโอกาสนี้ขอเล่าประสบการณ์สู่กันฟังเพื่อเป็นประโยชน์แก่เพื่อนร่วมวิชาชีพบ้างไม่มากก็น้อย

            เรื่องมีอยู่ว่า ผมมีลูกค้ารายใหญ่อยู่รายหนึ่งชื่อบริษัท A ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตปริมณฑล เป็นโรงงานอุตสาหกรรม แปรรูปโภคภัณฑ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีชาวต่างชาติสัญชาติจีนไต้หวันเป็นเจ้าของกิจการ เริ่มประกอบกิจการการค้าในเมืองไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ต่อมาบริษัท A ได้ทำการปิดงวดบัญชีรอบปี พ.ศ. 2549 ผลปรากฎว่า กิจการมีลูกหนี้การค้ารายใหญ่อยู่รายหนึ่ง ชื่อบริษัท B ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ซึ่งมีชาวต่างชาติสัญชาติสิงคโปร์เป็นเจ้าของกิจการ บริษัท B เป็นโรงงานอุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศอเมริกา เป็นที่ทราบกันดีว่าปี พ.ศ. 2549-2553ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจในประเทศอเมริกาเกิดมีปัญหา เนื่องจากทั้งสองบริษัททำการค้าร่วมกันมาเป็นระยะเวลานาน บริษัท A จึงให้เครดิตการค้าแก่ บริษัท B เป็นจำนวนเงินที่สูงมาก ณ วันสิ้นงวดบัญชีรอบปี พ.ศ. 2549 บริษัท B เกิดมีปัญหาค้างชำระหนี้บริษัท A เป็นจำนวน 100 ล้านบาท (ไม่รวมVAT) บริษัท B ได้ผิดนัดชำระหนี้ล่วงเลยมาเป็นระยะเวลาเกิน 6 เดือน บริษัท A ได้ส่งเรื่องให้ทนายความดำเนินการทวงหนี้ตามกฏหมายแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการมาชำระแต่อย่างใด ดังนั้น ณ วันสิ้นงวดบัญชีรอบปี พ.ศ. 2549 บริษัท A จึงได้ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญทั้งจำนวน โดยยึดหลักมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 11 อันเป็นผลให้บัญชีการเงินของบริษัท A มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นทันที 100 ล้านบาท แต่ในทางบัญชีภาษี บริษัท A ยื่นแบบภ.ง.ด.50 ประจำปี บริษัทได้ยึดหลักมาตรา 65 ทวิ (9) และกฏกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) อย่างเคร่งครัด กล่าวคือ บริษัทได้ทำการบวกกลับหนี้สูญทั้งจำนวน อันเป็นผลให้บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานและเสียภาษีตามปกติเสมือนหนึ่งไม่มีหนี้สูญ และในส่วนของหนี้สูญของบริษัท A ยังคงต้องรอการดำเนินการตามกฎหมายให้ครบถ้วนต่อไป และในช่วงเวลาเดียวกันนั้น บริษัท B มีเจ้าหนี้การค้ารายอื่นฟ้องร้องล้มละลายอยู่ก่อนแล้ว บริษัท A จึงได้ทำการยื่นหลักฐานคำขอรับการชำระหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องร้องในคดีล้มละลายอยู่ก่อนแล้วตามระเบียบของกรมบังคับคดีพร้อมกันนั้น บริษัท A ได้ใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยนับตั้งแต่ บริษัท B ผิดนัดชำระหนี้ร้อยละ 7.5 % ต่อปี เป็นจำนวน 3 ล้านบาท ดังนั้น บริษัท B เป็นหนี้รวมทั้งสิ้นจำนวน 103 ล้านบาท
            ต่อมาปี พ.ศ. 2551-2553 บริษัท B ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ โดยกิจการมีเจ้าหนี้การค้าทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศจำนวนทั้งสิ้น 384 ราย เป็นหนี้รวมจำนวน 3,680 ล้านบาท กล่าวคือ บริษัท B มีการจัดทำแผนขอฟื้นฟูกิจการขึ้นมาใหม่ตามขั้นตอนในการขอฟื้นฟูกิจการ รวมถึงการจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อขออนุมัติแผนหลายครั้ง ใช้เวลาในการดำเนินการเป็นระยะเวลานานร่วม 3 ปี ผลปรากฎว่า ท้ายที่สุด ณ ที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่ยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เป็นผลให้ศาลได้สั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด หลังจากนั้น บริษัท Bเข้าสู่กระบวนการยืดทรัพย์ขายทอดตลาดในทันที
            กรมบังคับคดีใช้ระยะเวลาในการดำเนินการขายทอดตลาดนานถึง 7 ปี ในช่วงแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554-2557 กรมบังคับคดีส่วนกลางได้ดำเนินการขายสังหาริมทรัพย์จำนวน 1,827 รายการ และขายอสังหาริมทรัพย์จำนวน 8 รายการแยกออกจากกัน ผลปรากฎว่า ในการประมูลขายสังหาริมทรัพย์หลายครั้งต้องทำการยกเลิก เนื่องจากทรัพย์สินได้สูญหายไปไม่ตรงกับรายการทรัพย์สินที่ยื่นเข้าประมูล ส่วนอสังหาริมทรัพย์ราคาขายเป็นราคาที่คณะกรรมการได้ตั้งไว้ไม่มีผู้ยื่นซองเข้าประมูลแต่อย่างใดซึ่งในบางช่วงเวลาจำเป็นต้องรอนโยบายจากอธิบดีที่ย้ายเข้ามาใหม่ ส่งผลให้ต้องรอการประมูลครั้งถัดไปเป็นระยะเวลาหลายเดือนแต่ก็ยังขายทรัพย์ไม่ได้ แม้ว่าราคาทรัพย์สินจะลดลงในการประมูลครั้งถัดไปก็ตาม
            ช่วงที่สองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558-2560 กรมบังคับคดีใช้ระยะเวลาในการดำเนินการขายทอดตลาดโดยการเปลี่ยนนโยบายใหม่ ให้ไปทำการประมูลที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดชลบุรีอันเป็นสถานที่ตั้งของทรัพย์สินที่จะนำออกประมูล โดยรวมราคาประมูลสำหรับสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ในคราวเดียวกัน ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้มีการลดราคาในการประมูลครั้งใหม่ทุกครั้ง ผลปรากฎว่า กรมบังคับคดีได้ประมูลขายทอดตลาดได้ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2560 บริษัทได้รับชำระหนี้ 3% เป็นจำนวนเงิน 1 ล้านบาท (เนื่องจากหนี้ของบริษัทเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน)
            ดังนั้น ณ วันสิ้นงวดบัญชีรอบปี พ.ศ. 2560 บริษัทได้ดำเนินการใช้สิทธิทางบัญชีภาษีในการตัดหนี้สูญตามประมวลรัษฎากร รวม 2 ข้อคือ ข้อที่หนึ่ง เรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัท Aได้ปฏิบัติตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 85 เรื่องหนี้สูญที่นำมาหักออกจากภาษีขาย กล่าวคือ ในเดือนที่กรมบังคับคดี มีหนังสือให้ไปรับเงินคืนจากการเฉลี่ยทรัพย์สินตามสิทธิ บริษัทได้นำหนี้สูญตามใบกำกับภาษีที่ได้ยื่นรายงานภาษีขายในงวดบัญชีรอบปี พ.ศ. 2549 และได้ชำระภาษีขายเรียบร้อยแล้ว มาหักออกจากรายงานภาษีขายทั้งจำนวน 100 ล้านบาท เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 7 ล้านบาท อันเป็นเหตุให้ในแบบ ภพ. 30 เดือนนั้นมีภาษีขายน้อยกว่าภาษีซื้อเป็นจำนวน 7 ล้านบาท ซึ่งทำให้สัดส่วนภาษีซื้อต่อภาษีขายในเดือนนั้นสูงผิดปกติไปเป็นจำนวนมากอีก 3 เดือนต่อมา สรรพากรประจำจังหวัดได้มีหนังสือมาถึงบริษัทเพื่อขอตรวจภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนที่ผิดปกติทันที
            ข้อที่สอง เรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัท A ได้ปฏิบัติตามกฏกระทรวง ฉบับที่ 186 ข้อ 4 กล่าวคือ บัญชีภาษีอากรงวดบัญชีรอบปี พ.ศ. 2560 บริษัท A ได้ตัดหนี้สูญในบัญชีภาษีอากรทั้งจำนวน จำนวน 100 ล้านบาท แต่เนื่องจากในระหว่างปี บริษัท Aได้ยื่นประมาณการเสียภาษีครึ่งปีเป็นกำไรจำนวน 30 ล้านบาท (ประมาณการกำไรทั้งปีจำนวน 60 ล้านบาท) และได้ชำระภาษีตามแบบ ภ.ง.ด. 51 เป็นจำนวน 6 ล้านบาท จากการที่บริษัทได้ใช้สิทธิตัดหนี้สูญเป็นเป็นรายจ่ายจำนวน 100 ล้านบาท ส่งผลให้การดำเนินงานของบริษัทมีบัญชีภาษีขาดทุนในงวดบัญชีรอบปี พ.ศ. 2560 ทันที เป็นจำนวน 40 ล้านบาท บริษัทจึงยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 และขอคืนภาษีที่ชำระไปแล้วในระหว่างปีจำนวน 6 ล้านบาท และต่อมาสรรพากรประจำจังหวัดได้มีหนังสือเพื่อมาตรวจสอบบัญชีภาษีเงินได้นิติบุคคลตามระเบียบอีกเช่นกัน
            จากที่กล่าวมาข้างต้น รวมระยะเวลาตั้งแต่บริษัท A ขายสินค้าให้บริษัท B ได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนกระทั่งบริษัท A ใช้สิทธิในการตัดจำหน่ายหนี้สูญทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลในงวดบัญชีรอบปี พ.ศ. 2560 ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการให้ครบถ้วนตามประมวลรัษฎากรกำหนดรวม 11 ปี บริษัท Aจะต้องเสียเวลาในการชี้แจงต่อกรมสรรพากร คาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาอีก 1 ปี จึงจะแล้วเสร็จ
            จากที่กล่าวมาข้างต้น รวมระยะเวลาตั้งแต่บริษัท A ขายสินค้าให้บริษัท B ได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนกระทั่งบริษัท A ใช้สิทธิในการตัดจำหน่ายหนี้สูญทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลในงวดบัญชีรอบปี พ.ศ. 2560 ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการให้ครบถ้วนตามประมวลรัษฎากรกำหนดรวม 11 ปี บริษัท Aจะต้องเสียเวลาในการชี้แจงต่อกรมสรรพากร คาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาอีก 1 ปี จึงจะแล้วเสร็จ
            จากประสบการณ์ที่เล่ามานี้จะเห็นได้ว่า กรณีจำนวนหนี้เกิน 5 แสนบาท ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 ข้อ 4 นั้นมีกระบวนการดำเนินการยาวนานเกินทศวรรษ กว่าจะดำเนินการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มและใช้สิทธิตัดเป็นหนี้สูญทางภาษีเงินได้นิติบุคคคล จะเห็นได้ว่า ประมวลรัษฎากร เรื่อง การตัดหนี้สูญไม่สอดคล้องกับการทำธุรกิจในยุคที่เป็น 4.0 ในปัจจุบัน กรณีนี้นอกจากบริษัทต้องใช้ระยะเวลานานเกินทศวรรษแล้ว ในขณะที่บริษัทเกิดหนี้สูญ บริษัท Aขาดสภาพคล่องทางการเงินเป็นอย่างมาก การขอกู้ยืมเงินเพื่อมารักษาสภาพคล่องนั้นก็ทำได้ยาก เพราะทางสถาบันการเงินก็เข้มงวดในการปล่อยเงินกู้ โดยบริษัท A มียอดขายลดลงจากเดิมเป็นอันมาก เนื่องจากบริษัทไม่มีเงินทุนที่จะนำมาใช้หมุนเวียนในการทำการค้า เป็นผลให้การดำเนินงานของบริษัท A มีกำไรลดลงเป็นเวลาหลายปี อีกทั้งต้องสูญเสียตลาดให้คู่แข่งขันเติบโตข้ามบริษัทไป ทุกสิ้นปีบริษัทมีกำไรที่จะต้องชำระภาษีประจำปีไม่สามารถที่จะนำหนี้สูญมาลดหย่อนภาษีตามสิทธิที่ควรจะได้ บริษัท A ต้องใช้ระยะเวลาในการกอบกู้กิจการเป็นเวลาหลายปีจึงจะสามารถทำให้กิจการกลับมาดีได้ดังเดิม อีกทั้งกระบวนการในการขายทอดตลาดเพื่อใช้สิทธิในการตัดหนี้สูญก็ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการยาวนานมาก เสมือนว่า ไม่เอื้ออำนวยให้บริษัทในการทำการค้าแต่อย่างใด

...ประมวลรัษฎากร เรื่องการตัดหนี้สูญไม่สอดคล้องกับการทำธุรกิจ ในยุค 4.0
...อีกทั้งกระบวนการในการขายทอดตลาดเพื่อใช้สิทธิในการตัดหนี้สูญที่ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการนานมาก เสมือนว่าไม่เอื้ออำนวยให้บริษัทในการทำการค้าแต่อย่างใด



โดย..นายธนกร พรหมไตรรัตน์
กรรมการในคณะด้านการบัญชีภาษีอากร

โพสต์เมื่อ :
15 พ.ค. 2563 14:28:12
 10307
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์